posttoday

เจาะตลาดใหม่กับบีโอไอ “ปากีสถาน ดินแดนแห่งภูเขาสวยดั่งสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”

22 กรกฎาคม 2562

โดย กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

โดย กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

เส้นทางสายไหม เมื่อทุกคนพูดถึงคำๆนี้ เราจะนึกภาพการเดินทางที่น่าตื่นเต้นที่เต็มไปด้วยขบวนคาราวานของพ่อค้าและนักแสวงโชคที่พยายามเชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออกไว้ด้วยกัน อีกเช่นเคยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ นำโดยกองส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศได้จัดทริปนำคณะบุกเบิกสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนที่สำคัญในเส้นทางสายไหม ระหว่างวันที่ 15-22 มิถุนายน 2562  โดยในครั้งนี้คณะได้ลงสำรวจประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้หนึ่งในนั้นคือ ประเทศปากีสถาน หรือชื่อเต็มที่เป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จากการสำรวจโอกาสเส้นทางการลงทุนในครั้งนี้ทางคณะได้พบว่าประเทศนี้เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่สำคัญของโลกทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคนอีกทั้งยังเป็นประเทศที่ตั้งอยู่จุดเชื่อมโยงการค้าที่มีพรมแดนติดกับประเทศอินเดีย อิหร่าน อัฟกานิสถาน และจีน  โดยภูมิประเทศทางตอนเหนือมีภูเขาสูงอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ตอนกลางเป็นที่ราบสูง ส่วนตอนใต้มีอากาศร้อนชื้น และมีทะเลทรายบางส่วน รวมถึงมีชายฝั่งทะเลติดกับทะเลอาหรับ (Arabian Sea) โดยมีเมืองหลวงที่สำคัญคือ กรุงอิสลามาบัด (Islamabad) และเมืองการาจี (Karachi)  ที่เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเมืองละฮอร์ (Lahore) ซึ่งเป็นศูนย์กลางพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ

โอกาสแรกที่เราจะกล่าวถึงสำหรับนักลงทุนไทยในทริปนี้คือ โอกาสในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและบริการ ปัจจุบันปากีสถานเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน ซึ่งประชากรมากว่าร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลาม จึงถือว่าตลาดอาหารฮาลาลในปากีสถานเป็นตลาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ปากีสถานยังเป็นประตู้การค้าสู้เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ  ในขณะนี้มีสินค้าฮาลาลไทยหลากหลายประเภทจำหน่ายทั่วไปตามร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต อาทิ น้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องจากไทย ขนมขบเคี้ยว นมถั่วเหลือง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของร้านอาหารไทยฮาลาลที่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวปากีสถาน ซึ่งนิยมรับประทานอาหารไทยเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยร้านอาหารไทยส่วนใหญ่เปิดให้บริการตามโรงแรมขนาดใหญ่ มีราคาค่อนข้างแพงเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงจากการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารจากไทย ลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นลูกค้าระดับบนและระดับกลาง ส่วนร้านอาหารไทยที่เปิดตามแหล่งชุมชนนั้นส่วนใหญ่ใช้เชฟเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งยังขาดทักษะที่จะทำให้รสชาติอาหารเป็นแบบอาหารไทยที่แท้จริง  ดังนั้นโอกาสในธุรกิจนี้ยังเป็นโอกาสที่สดใสและเปิดกว้างกับนักลงทุนไทยอยู่เสมอ  

โอกาสที่สองคือ อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการประมง ปัจจุบันปากีสถานมีการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้จำนวนมากเช่น ข้าว อ้อย กล้วย มะม่วง อินทผาลัม และส้ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผักผลไม้สด ไม่ได้มีการแปรรูปและการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งยังขาดเทคโนโลยีการเพาะปลูกโดยเฉพาะมะม่วง ที่ปากีสถานต้องการให้นักลงทุนไทยเข้ามาทำโรงงานแปรรูปมะม่วง ซึ่งปากีสถานถือเป็นผู้ผลิตมะม่วงรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ส่วนการประมง ปัจจุบันปากีสถานมีฟาร์มเลี้ยงกุ้ง โดยสามารถใช้น้ำทะเลจากทะเลอาหรับ ในการทำฟาร์ม ซึ่งประเทศไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมกิจการนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นตลาดส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญของปากีสถาน ซึ่งอาหารทะเลที่ส่งออกมายังไทย ได้แก่ กุ้ง ล็อปสเตอร์ ปู ปลาหมึก ปลาซาดีน โดยเป็นการนำเข้าในลักษณะวัตถุดิบเนื่องจากปากีสถานยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนแปรรูปในอุตสาหกรรมนี้ เช่น กิจการห้องเย็น การขนส่งห้องเย็น โรงงานแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปนั้น มีบริษัทไทยได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ที่เข้าไปลงทุนผลิตอาหารสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์ปีก และร้านไก่ย่างห้าดาว เป็นต้น

โอกาสท้ายสุดคือ โอกาสในการอุตสาหกรรมพลังงาน โดยในขณะนี้ ปากีสถานยังคงประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน โดยพบว่า กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของปากีสถานมีอยู่เพียง 2 ใน 3 จากความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ โดยปากีสถานสามาถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 95 พันล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ทำให้ในหลายพื้นที่ของประเทศ ยังคงประสบปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง และบางครั้งกินระยะเวลานานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีการใช้กระแสไฟฟ้ามีมากกว่าในฤดูอื่น ๆ ในปากีสถาน

เจาะตลาดใหม่กับบีโอไอ  “ปากีสถาน  ดินแดนแห่งภูเขาสวยดั่งสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”

สำหรับในการเดินทางที่น่าตื่นเต้นของคณะในครั้งนี้ ทางคณะได้เดินทางโดยสายการบินไทย จากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 5 ชั่วโมงครึ่ง จึงถึงท่าอากาศยานนานาชาติจินนาห์ ณ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน และได้บินต่ออีกประมาณ 1.30 ชั่วโมงไปยัง กรุงอิสลามมาบัด โดยสายการบินภายในประเทศ  ซึ่งการเดินทางนี้ได้รับความช่วยเหลือและต้อนรับจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด อย่างอบอุ่นเป็นอย่างดีตลอดการเดินทางทั้ง 7 วัน โดยการเดินทางในครั้งนี้คณะได้พบปะกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สำคัญได้แก่ หน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนปากีสถาน กระทรวงเกษตร การท่าเรือ รัฐบาลท้องถิ่น ธนาคาร รวมถึงเอกชนไทยและต่างชาติ จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของประเทศปากีสถาน ทำให้ทราบว่าปากีสถานถือเป็นประเทศทีมีทรัพยากรทางธรรมชาติและอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่มากและน่าสนใจ โดยเฉพาะในด้านการเพาะปลูกและสิ่งทอ  โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกฝ้ายและสินค้าสิ่งทอมากเป็นอันดับต้นๆของโลก และยังมีภาคอุตสาหกรรมอื่นเข้มแข็งอีกด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ประเภทอาหารแช่แช็ง  โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีอัตราการจ้างงานประมาณร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด และมีสัดส่วนมากว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ จึงถือได้ว่าสิ่งทอเป็นสินค้าส่งออกหลักของปากีสถาน ปัจจุบันประเทศปากีสถาน จัดว่าเป็นประเทศสังคมมุสลิม เนื่องจากประชากรมากกว่าร้อยละ 97 นับถือศาสนาอิสลาม โดยเป็นผู้นับถือนิกายซุนนีย์ร้อยละ  75 และนิกายชีอะห์ร้อยละ 20  ประชาชนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตชนบท และเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยมีการใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษาประจำชาติ  ส่วนภาษาอังกฤษใช้ในรัฐบาลกลางและภาคธุรกิจ และอาจมีการใช้ภาษาท้องถิ่นอื่นๆในบางพื้นที่ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาทต่อ 3 รูปี (PKR) โดยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 95 เหรียญสหรัฐต่อเดือน จากการที่ได้รับข้อมูลจากสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงอิสลามาบัด พบว่าปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆในปากีสถานเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จีน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ One Belt One Road  จีนและปากีสถานได้จัดทำความตกลงทวิภาคีกับปากีสถาน China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) จะทำให้ซินเจียงสามารถออกสู่ทะเลที่ท่าเรือ Gwadar ของปากีสถานด้วยระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือ เส้นทางรถไฟ รวมทั้งเส้นทางหลวง และสนามบิน ตลอดจนการสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และท่อก๊าซธรรมชาติ และระบบสื่อสารผ่านโครงข่าย Optical Fiber Communication  อิตาลีมีความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คูเวตในอุตสาหกรรมฟาร์มโคนม รวมถึงรัสเซียกับซาอุดิอาระเบียได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานได้แก่ ท่อส่งก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน ล่าสุดมาเลเซียได้เข้ามาลงทุน Joint venture ผลิตรถยนต์กับบริษัทปากีสถาน รวมถึงตั้งโรงงานผลิตอาหารฮาลาล นอกจากนี้ผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในปากีสถานอาทิ โตโยต้า ซูซูกิ ฮอนด้า ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ 

ปัจจุบันปากีสถานให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยยกจุดเด่นของประเทศในด้านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้ถูกโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยหิมะปกคลุมอย่างสวยงาม มีทะเลสาบ และป่าหญ้าเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ปัจจุบันปากีสถานจึงถูกเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย” ดังนั้นปากีสถานจึงมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและบริการมาพัฒนาธุรกิจด้านนี้อีกมากมาย สำหรับการขนส่งทางบก ปากีสถานมีทางหลวงทั้งหมด 12 เส้นทาง และมีทางด่วน อีก 4 เส้นทางเชื่อมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเข้าด้วยกัน จึงทำให้ประเทศนี้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ปากีสถานยังมีท่าเรือน้ำลึกถึง 3 แห่งได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกการาจี (Port of Karachi) ท่าเรือน้ำลึกคาซิม (Port of Qasim) และสุดท้ายคือท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ (Port of Gwadar) ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ล่าสุดที่ได้เปิดทำการในปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายสินค้าจากปากีสถานไปยังอัฟกานิสถานและประเทศแถบเอเชียกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศทางตอนเหนือที่ไม่มีทางออกทะเลเช่น คาซัคสถาน อุซเบกิซสถาน เป็นต้น ปัจจุบันปากีสถานเป็นประเทศที่มีนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้างให้กับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้เกือบทุกประเภทอุตสาหกรรมได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือครองหุ้นของต่างชาติ อีกทั้งยังไม่มีข้อบังคับด้านการขออนุญาตการลงทุนอีกด้วย  นอกจากนี้ยังมีการมอบสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZ) กับเขตส่งเสริมการส่งออก (Export Processing Zone: EPZ)  รวมถึงสหภาพยุโรปยังให้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าแก่ปากีสถาน และต่างชาติมีสิทธิถือครองที่ดินได้ตั้งแต่ 30-99 ปีได้อีกด้วย จากหลายๆเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงจะเห็นได้ว่าประเทศปากีสถานยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดและน่าสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างสูงในรอบปีที่ผ่านมา สำหรับปัญหาอุปสรรคในขณะนี้ ยังคงเป็นเรื่องการขาดแคลนพลังงานโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ารวมถึงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบการขนส่งที่ยังไม่ได้มาตรฐานส่งผลให้การกระจายสินค้าไปยังเมืองต่าง ๆต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายที่สูง แรงงานยังคงเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือและยังขาดทักษะในการบริการ รวมถึงหน่วยงานราชการที่ยังไม่คล่องตัวและมีกฏระเบียบด้านการค้าและกฏหมายที่ไม่ทันสมัย เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ และระบบภาษี เป็นต้น ท้ายที่สุดสำหรับอุปสรรคที่สำคัญยังคงเป็นปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงภายในประเทศทั้งในเรื่องการก่อการร้าย และการขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศอินเดีย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุนในบางพื้นที่

สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศปากีสถาน ที่มีความสำคัญมากในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ที่มีประชากรเกือบ 200 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใกล้ทะเลอาระเบียนในภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งสามารถเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงระหว่าง ยุโรป จีน เอเชียกลาง รวมถึงอินเดียไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็บไซต์ https://toi.boi.go.th  หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  เบอร์ อีเมล์ [email protected]

เจาะตลาดใหม่กับบีโอไอ  “ปากีสถาน  ดินแดนแห่งภูเขาสวยดั่งสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย”