posttoday

รฟม.เผยนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายทำได้จริง จับมือกรมรางคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า

18 กรกฎาคม 2562

ด้าน TDRI ซัดคนกรุงฯอ่วมแบกค่ารถไฟฟ้าเดือนละ 3,000 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ฟรีแค่ 5 สถานี เปิดความสวยงาม 4 สถานีสวย ดูดนักท่องเที่ยว

ด้าน TDRI ซัดคนกรุงฯอ่วมแบกค่ารถไฟฟ้าเดือนละ 3,000 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ฟรีแค่ 5 สถานี เปิดความสวยงาม 4 สถานีสวย ดูดนักท่องเที่ยว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่านโยบายด้านคมนาคมของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องค่ารถไฟฟ้า 15 บาท ตลอดสายนั้น รฟม.มองว่าสามารถทำได้หากต้องการลดภาระการเดินทางของประชาชน แต่รัฐบาลต้องทำหน้าที่อุดหนุน(Subsidy) ต้นทุนส่วนต่างให้กับเอกชนที่รับงานบริหารและเดินรถ

ส่วนประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสที่แพงเกินไปนั้น หลังจากนี้จะทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางราง(ขร.) อย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้ประชาชน โดยจะมีการร่วมตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อศึกษาการกำหนดโครงการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม

รวมถึงมาตรการที่ภาครัฐจะเข้าไปอุดหนุนค่าโดยสาร ซึ่งขร.จะทำหน้าที่ออกนโยบายในการควบคุมและลดค่าโดยสารลง ส่วน รฟม.จะทำหน้าที่นำนโยบายไปบังคับใช้กับเอกชนผู้เดินรถทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเจรจากันอีกว่าสิ่งไหนทำได้และสิ่งไหนทำไม่ได้

นายภคพงศ์ กล่าวยืนยันว่าการรถใต้ดิน MRT จะยังคิดค่าโดยสารเท่าเดิมที่ 16-42 บาท เท่าเดิมกล่าวคือถ้าคนใช้บริการนั่งตลอดเส้นทาง 47 กม. จำนวน 38 สถานี (เตาปูน-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค) แต่เก็บค่าโดยสารเท่าเดิมสูงสุดที่ 42 บาท และจะเพิ่มค่าโดยสารเป็น 70 บาทตลอดสาย หากไปเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง อาทิ การเดินทางบางแค-บางใหญ่

ด้านรายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าของไทยแพงเกินความเป็นจริงและต้องหาแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วน จากการศึกษาพบว่า
คนกรุงเทพหากใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางไปทำงานทุกวัน จะต้องควักค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน

ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านระบบขนส่งอื่นๆที่ต้องใช้ควบคู่กันเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางเช่น ค่ารถเมล์หรือค่าบริการจักรยานยนต์รับจ้างเป็นต้

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่าในวันที่ 29 ก.ค. นี้จะเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนต่อขยายสายใหม่ช่วงหัวลำโพง-สถานีท่าพระ โดยจะเป็นการเปิดให้บริการฟรีตั้งแต่ 29 ก.ค.- 28 ก.ย. รวม 5 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพและสถานีท่าพระ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น.

ดังนั้นประชาชนที่จะเดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปยัง 5 สถานีดังกล่าวจะมีค่าโดยสาร 16 บาท แต่ถ้าหากขึ้นรถไฟที่สถานีวัดมังกร-สถานีท่าพระ ก็จะไม่มีค่าบริการ สำหรับขบวนรถที่จะนำมาให้บริการนั้นคือรถไฟใหม่ โดยจะมีการเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง เพื่อไปยังส่วนต่อขยายเส้นทางใหม่ ขณะที่การเปิดเดินรถไฟฟ้าเต็มเส้นทางหัวลำโพง-บางแค นั้นจะทยอยเปิดทีละสถานีจนครบทั้งหมด

นายภคพงศ์กล่าวต่อว่าการเปิดทดสอบเดินรถหัวลำโพง-ท่าพระนั้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการ 30,000 คนในวันแรก จากนั้นจะเพิ่มถึง 100,000 คนในเดือนต่อมา สำหรับการเปิดเดินรถช่วงเตาปูน-ท่าพระนั้นจะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2563 ส่วนการรับมอบรถขบวนใหม่จะรับมอบได้ 15 ขบวนภายในเดือน ก.ย. ก่อนรับมอบครบทั้งหมด 35 ขบวน ในเดือน ก.พ. 2563 เมื่อรับมอบครบแล้วจะทำให้ความแออัดในขบวนและระยะเวลาการรอรถไฟฟ้าดีขึ้น ลดระยะเวลาการรอรถไฟฟ้าลงได้ 1 ใน 3 หรือลดลง 30% คิดเป็นความถี่ 2 นาทีต่อขบวน จากปัจจุบัน 3 นาทีต่อขบวน ซึ่งเป็นระยะเวลาทำรอบดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ สำหรับปริมาณรองรับเพิ่ทนั้นอยู่ที่ 1,000 คน/ขบวน/เที่ยว

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BEM) กล่าวว่าหลังจากที่มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000-200,000 แสนคนต่อวัน

ส่งผลให้ภาพรวมของผู้โดยสารในเส้นทางการให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(เฉลิมรัชมงคล)และรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ฉลองรัชธรรม) ปลายปีนี้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันธรรมดา 500,000 คนต่อวัน แต่เนื่องจากส่วนต่อขยายดังกล่าวเปิดให้บริการในช่วงไตรมาสสุดท้ายจึงคาดว่าจะจำนวนผู้โดยสารเติบโตทั้งปีประมาณ 4-5%

ขณะที่จำนวนผู้โดยสารจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายฯในช่วง 3 เดือนสุดท้ายคาดเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ส่วนรายได้นั้นเติบโตไปในทิศทางเดียวกันตามการเติบโตของผู้โดยสารคือ 10% คาดการณ์ว่าในปีหน้าหากมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ท่าพระ ในช่วงเดือน มี.ค.2563 จำนวนผู้โดยสารจะเติบโตอย่างน้อย 25% รายได้เติบโตอยู่ที่ประมาณ 25%

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าการเปิดเดินรถสายนื้จะมีสถานีแสนสวยสำหรับนักท่องเที่ยว

4 สถานีด้วยกัน ได้แก่

1.สถานีสนามไชย อยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร จึงเน้นดีไซน์ที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมของไทยแบบโบราณ ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังได้ก้าวเท้าเข้าสู่พระราชวังโบราณ

2.สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกรกมลาวาส ดึงเอากลิ่นอายของ 2 วัฒนธรรม คือ ไทยและจีน มาเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยผสมผสานกัน จนกลายมาเป็นสถานีลอดลายมังกร ที่มีการตกแต่งด้วยมังกรกับดอกบัวที่เป็นเอกลักษณ์ของทางวัดมังกรกมลาวาส และต้องการสื่อให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวจีนด้วยการเน้นโทนสีแดงเป็นหลัก และให้สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนไปตลอดทั้งสถานี

3.สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามยอด (วังบูรพา) แบบของสถานีออกมาเพื่อให้ยลโฉมสุดยอดสถาปัตยกรรมผสมผสาน ที่นำเอาแนวชิโนโปรตุกิสมาผสมผสานให้สอดคล้องเข้ากับวัฒนธรรมไทยโบราณ พร้อมให้ความกลมกลืนไปกับอาคารและบ้านเรือนที่อยู่ในย่านถนนเจริญกรุง โดยภายในตัวสถานีจะมีการนำภาพย้อนยุคมาเล่าใหม่โดยติดไว้ตามผนังของสถานี เพื่อให้บอกเล่าเรื่องราวสำคัญแก่คนรุ่นหลัง มีการนำเอาแบบซุ้มประตูสามยอดมาประยุกต์ให้เป็นช่องจำหน่ายตั๋วด้วย

4.สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินอิสรภาพ ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ที่ถือว่าเป็นวัดสำคัญและมีความเก่าแก่ในย่านอิสรภาพ สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมโบราณด้วยบรรยากาศที่โอ่โถง โปร่งสบาย จุดเด่นของสถานีนี้คือการเป็นอุโมงค์ที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถข้ามไปสู่ฝั่งพระนครได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการเดินทางบนดินปกติ

รฟม.เผยนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายทำได้จริง จับมือกรมรางคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า

รฟม.เผยนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายทำได้จริง จับมือกรมรางคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า

รฟม.เผยนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายทำได้จริง จับมือกรมรางคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า

รฟม.เผยนโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายทำได้จริง จับมือกรมรางคุมค่าโดยสารรถไฟฟ้า