posttoday

On-Demand Learning

23 มีนาคม 2562

โดย....อัจฉรา จุ้ยเจริญโค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรอง จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดย.... อัจฉรา จุ้ยเจริญ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรอง จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอคคอมแอนด์อิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในอดีตกว่าที่ความรู้ต่างๆ จะเพิ่มพูนเป็นเท่าตัวจะต้องใช้เวลามากกว่ายี่สิบปี ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ความรู้ในบางเรื่องเพิ่มพูนอึกเท่าตัวภายในเวลาสองปีเท่านั้น โดยเฉลี่ยความรู้ทั่วๆ ไปเพิ่มพูนอีกเท่าตัวได้ในทุกๆ สิบสามเดือน

ด้วยอัตราการเติบโตของข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ นี้รูปแบบการเรียนรู้ของคนเราคงจะอยู่แต่ในห้องเรียน หรือนั่งรอกำหนดการเรียนรู้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่มีแนวโน้มจะเป็นการเรียนรู้แบบ On-Demand Learning คือเรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ตามที่ต้องการ และเลือกหัวข้อ และระยะเวลาได้ด้วยตนเองแบบเฉพาะเจาะจงได้

การพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง ในอดีตบุคลากรอาจจะรอให้องค์กรระบุหรือมอบหมายให้ว่าตนเองควรเรียนรู้อะไรและเมื่อไหร่ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้บุคลากรจะเป็นผู้ที่กุมบังเหียนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น มีคำถามด้านการบริหารงานหรือโครงการ บุคลากรสามารถเข้าเรียนรู้ผ่านช่องทาง e-Learning และ Microlearning ได้ทันทีตามที่ตนต้องการ และสามารถเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์สื่อสารของตนเองได้ตลอดเวลา

องค์กรและผู้นำของพวกเขามีแนวโน้มที่จะปรับบทบาทจากการเป็นผู้กำหนดหรือผู้ควบคุมการเรียนรู้ มาเป็นผู้ที่จัดสรรหรือจัดหาแหล่งข้อมูลความรู้ที่ดีไว้ให้พวกเขา อย่างเช่น e-Learning ที่เป็นการเรียนรู้แบบชุดสั้นๆ เข้าใจง่าย และมีการปรับหรือเพิ่มข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยบุคลากรสามารถเลือกเวลาและสถานที่ในการเรียนรู้ให้ตนเองได้ ช่วยให้สร้างสมดุลด้านงานและชีวิตส่วนตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้าน e-Learning ใช้ทั้งงบประมาณและเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องจ่ายล่วงหน้า อาจไม่คุ้มค่าหากบุคลากรไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์ เช่น มีหัวข้อเยอะไปจนเลือกไม่ถูก การจัดการให้ระบบนำเสนอหัวข้อที่เหมาะกับบทบาทของผู้เรียนและความสนใจของแต่ละคน (Adaptive) จึงสำคัญอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบในห้องเรียนหรือผ่าน e-Learning ก็ตาม ประสบการณ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด e-Learning ที่ดีควรมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ และให้ผู้เรียนเลือกได้ตามสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคน เช่น บางคนชอบดู (Visual) บางคนชอบฟัง (Audio) หรือชอบแข่งขัน ทดสอบตนเอง (Active) และหลังจากการเรียนรู้ มีโค้ชหรือพี่เลี้ยงที่ช่วยสร้างความกระจ่างชัดในประเด็นที่ต้องการ หรือช่วยกระตุ้นการลงมือปฏิบัติ

การจัดให้มีกลุ่มการเรียนรู้ที่เปิดให้บุคลากรได้มาแบ่งปันสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ ทำให้บุคลากรเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งทำให้เกิดการจดจำที่ดีขึ้น ในบรรยากาศที่สนุกสนานได้ ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป เราอาจจะได้เห็นบทบาทใหม่ๆ ของหน่วยงานอบรม เช่น เปลี่ยนจาก Training Manager มาเป็น Learning Experience Manager หรือ Learning Community Manager

ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบใด การประเมินผลเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งการประเมินผลควรทำมากกว่า “ความพึงพอใจของผู้เรียน” และควรประเมินในระดับสูงขึ้น เช่น ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หรือประเมินไปถึงในระดับผลลัพธ์ทางธุรกิจด้วย