posttoday

"เนสท์เล่" ชูน้ำตาลน้อย มุ่งวางอาหาร-เครื่องดื่มหวานต่ำ

21 มีนาคม 2562

เนสท์เล่ ชี้ปีนี้แนวโน้มตลาดอาหารและเครื่องดื่มโตกว่าปีก่อน ทุ่มงบ 85 ล้านจัดแคมเปญ 3 อ. เสริมภาพ

เนสท์เล่ ชี้ปีนี้แนวโน้มตลาดอาหารและเครื่องดื่มโตกว่าปีก่อน ทุ่มงบ 85 ล้านจัดแคมเปญ 3 อ. เสริมภาพ

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า แผนปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลต่ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์สูตรน้ำตาลต่ำจำนวนราว 48 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะเปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 2-3 ผลิตภัณฑ์ภายในปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มปริมาณสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพขึ้นเป็น 50% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทในอนาคต จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30%

“เรามุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าทางเลือกสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์คุณภาพดีต่อประชากรทั่วโลก โดยใช้งบประมาณในการวิจัยทั่วโลกอยู่ที่ราว 2-3% เช่นเดียวกับประเทศไทย” นายเซียห์ กล่าว

ขณะที่ภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.04 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยบริษัทมองว่าในปีนี้ทิศทางตลาดมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์อยู่ในตลาดดังกล่าวจำนวน 14 กลุ่มผลิตภัณฑ์ หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดราว 30% เป็นอันดับ 1 ของตลาด

สำหรับเป้าหมายการเติบโตทั่วโลกของเนสท์เล่ คาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยประเทศไทยคาดว่าจะมีการเติบโตเช่นกัน เพื่อผลักดันเป้าหมายทั่วโลกให้เติบโตตามการคาดการณ์

นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทได้ใช้งบการตลาดราว 85 ล้านบาท ในการทำแคมเปญให้ความรู้ด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีภายใต้ชื่อ “ชีวิตดีๆ เริ่มง่ายๆ คนไทยต้อง 3 อ. อาหาร-ออกกำลังกาย-อารมณ์” ซึ่งถือเป็นแคมเปญใหญ่ประจำปี 2562

น.ส.สมฤดี บุญให้เจริญ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและบริการทางการตลาด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคชาวไทยเกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ได้ระบุว่าผู้บริโภคจากกลุ่มตัวอย่างในสัดส่วน 92% มีความคิดว่า ตนเองมีสุขภาพดี เนื่องจากไม่เจ็บป่วย ซึ่งความจริงของผู้บริโภคในประเทศไทยนั้น 53% มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงมีความเชื่อว่าการมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องใช้เงิน นอกจากนั้นยังเห็นว่าตนเองมีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบและไม่มีเวลาในการออกกำลังกาย ซึ่งขาดวินัยในตัวเอง

ดังนั้น บริษัทจึงจัดแคมเปญเพื่อสื่อสารทางการตลาดในหลากหลายรูปแบบทั้ง โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และการจัดคาราวานลงในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น โดยคาดหวังว่าจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวไทยเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ริเริ่มแนวคิดส่งเสริมสุขภาพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)