posttoday

เรียนสนุก กับแชตบอต‘Vonder’

15 มีนาคม 2562

ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือ Edtech ค่อยๆ พัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เรื่อง เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือ Edtech ค่อยๆ พัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะไม่หวือหวาเท่ากับกลุ่มฟินเทค หรือพร็อพเทค แต่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขการลงทุนของ VC ทั่วโลกใน Edtech นั้น มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปีที่ผ่านมามีมูลค่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.97 แสนล้านบาท เติบโต 30% คาดว่าปี 2563 จะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมูลค่าของ Edtech อยู่ที่ประมาณ 156-313 ล้านบาท โดยยังมุ่งเน้นในตลาดหลัก เช่น ภาษาอังกฤษ Professional Reskilling Personalized Learning Pathway Career Accerator และเริ่มนำเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน (Deep Tech) มาใช้งาน ทั้ง AI แมชีนเลิร์นนิ่ง และ IoT เป็นต้น

กองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และบริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ ได้จัดงาน StormBreaker Venture Demo Day 2019 มีทีมสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Edtech Startup) เข้าร่วมแข่งขันหลายทีม อย่างทีม Vonder ที่มีสโลแกนว่า “Education chatbot that makes learning fun for everyone”

ชิน วังแก้วหิรัญ ผู้ก่อตั้ง Vonder แชตบอตเพื่อการศึกษา กล่าวว่า การพัฒนา Vonder เกิดจากความสงสัยว่าทำไมสื่อการเรียนการสอนของไทย ที่มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก ยังวนเวียนอยู่แบบเดิม จึงนำเสนอวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปรียบเสมือนการพูดคุยแชตกับเพื่อนที่เข้าใจเรา สอนและแนะนำสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยปรับพื้นฐานความรู้ในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั้งหมด 6.5 หมื่นคน มีผู้ใช้งาน 8,500 คน/สัปดาห์

“เป้าหมายของ Vonder คือ การคิดค้นวิธีการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ และการกระจายโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงเด็กนักเรียนให้มากที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการช่วยปรับพื้นฐานความรู้ให้นักเรียนฟรี เปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความสนใจให้เด็ก มองว่าการเรียนเป็นเรื่องสนุกและสนใจเรียนรู้ต่อไปในระดับสูงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม Vonder ได้ขยายขอบข่ายของธุรกิจ เป็น Vonder for Business นำแชตบอตไปใช้ในการเทรนพนักงาน ความยากง่ายของเนื้อหาจะถูกปรับตามระดับความเข้าใจของผู้เรียนที่มีต่อบทเรียนนั้น (Personalized) ผ่าน Pop-up Quizze ที่ใช้ตรวจวัดความเข้าใจคอนเซ็ปต์ในแต่ละขั้น ก่อนจะก้าวไปสู่บทเรียนถัดไปที่ยากขึ้น

ชิน กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้ Vonder พัฒนาเนื้อหาที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยทำให้พนักงานเข้าใจในคุณค่าขององค์กร เช่น ธนาคารกสิกรไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ บริษัท เอ็มบีเค ซึ่งส่วนใหญ่ของพนักงานจะเป็นคนเจนวายที่มีความเข้าใจกับสื่อชนิดนี้อยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ครูก็สามารถใช้แชตบอตในการพัฒนาระบบการเรียน การสอนให้เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น

“เป้าหมายในอนาคต Vonder ต้องการเป็นสื่อสร้างสรรค์ ที่ต้องการเข้าถึงทุกองค์กร ทุกโรงเรียนในประเทศไทย” ชิน กล่าว