posttoday

ธุรกิจครอบครัวปรับตัว แห่หาผู้ร่วมทุนมากกว่านำบริษัทเข้าตลาดหุ้น

11 มีนาคม 2562

ธุรกิจครอบครัว เปลี่ยนแนวปรับตัว เลือกหาผู้ร่วมทุนหรือขายกิจการ มากกว่านำบริษัทเข้าตลาดหุ้น

ธุรกิจครอบครัว เปลี่ยนแนวปรับตัว เลือกหาผู้ร่วมทุนหรือขายกิจการ มากกว่านำบริษัทเข้าตลาดหุ้น

นายนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท พีดับบลิวซี ประเทศไทย (PwC) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวที่คนรุ่นใหม่หรือนิวเจเนอเรชั่นไม่ต้องการสานต่อธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเลือกแนวทาง ขายกิจการหรือหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน ซึ่งมีเกิดขึ้นตลอดเวลาและมีจำนวนมากกว่าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีการระดมทุนเพียงปีละไม่ถึง 20 บริษัท/ปี

ทั้งนี้ แนวทางที่ธุรกิจครอบครัวไม่สานต่อมี 3 ทางเลือก คือ 1.นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยนำหุ้นของครอบครัวขายให้กับประชาชนทั่วไป และนำเงินที่ได้จากการระดมทุนแบ่งให้กับลูกหลาน และหามืออาชีพเข้ามาบริหาร

ขณะที่ทางเลือก 2.หาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งก็เป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจลงให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมบริหาร รวมทั้งร่วมดำเนินธุรกิจ โดยต้องเป็นธุรกิจที่น่าดึงดูดและเติบโตต่อไปได้ จึงจะสามารถหาพันธมิตร และ 3.การขายกิจการ ในกรณีที่ต้องการวางมือจากธุรกิจทั้งหมด โดยที่ธุรกิจนั้นต้องมีอนาคตในการเติบโต และมีกำไรที่น่าสนใจ จึงจะดึงดูดผู้ซื้อรายใหม่เข้ามาได้

นายนิพันธ์ กล่าวว่า บริษัทจึงทำโครงการสร้างคนรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัว หรือเน็กซ์เจนคลับ เพื่อสร้างความพร้อมให้ทายาทอายุ 26-40 ปี เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจจากคนรุ่นเก่า