posttoday

สร้างนวัตกรรมองค์กร ขับเคลื่อนธุรกิจ

20 กุมภาพันธ์ 2562

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า

เรื่อง ThoughtWorks

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีขององค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เรื่องนวัตกรรมไม่ใช่ปัญหา เรามีนวัตกรรมมากมาย มีคนเก่งๆ อยู่ในทุกแผนกและทุกระดับ แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำงาน ศักยภาพความสามารถเลยแยกส่วนกระจัดกระจายกัน ซึ่งถ้าเราเชื่อมต่อ
กันได้ รวมทั้งมุ่งมั่นที่เป้าหมายและมียุทธศาสตร์ร่วมกัน เราจะพุ่งไปข้างหน้าแบบหยุดไม่อยู่เลย”

ในการสร้างนวัตกรรมในบริษัท หรือในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายนั้น ต้องเชื่อมต่อและกะเทาะไอเดีย ความสามารถ และข้อมูลเชิงลึกของแต่ละแผนกออกมาให้ได้และที่สำคัญคือ ต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่อนาคตที่มาถึงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้วิธีที่จะทำ ซึ่งการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ และการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันนั้นต้องอาศัยขั้นตอนการทำงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว

ที่ผ่านมา มีองค์กรจำนวนมากที่เปิดรับความเปลี่ยนแปลง โดยการใช้วัฒนธรรมส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยุทธศาสตร์การทำงานแบบทีมเล็กเหมือนสตาร์ทอัพ ผ่านวงจรการเรียนรู้แบบเร่งด่วน (Rapid Learning Cycles) การทดลอง การให้อิสระแก่ทีมงาน เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมออกมาให้ได้ทันใจ รวมทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับลูกค้า

โดยปกตินวัตกรรมมักจะเกิดขึ้นจากทีมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนในองค์กร ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้ทดลองและเรียนรู้ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและแหล่งรายได้ใหม่ๆ หัวใจสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ ทีมต้องมีขนาดเล็กและร่วมมือกันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถมุ่งความสนใจไปที่ไอเดียหลักอย่างเดียว ซึ่งควรเป็นภารกิจหลักสำคัญอันดับแรกของทีม โดยทีมนั้น ควรประกอบด้วยบุคลากรหลายระดับและหลากประสบการณ์

นอกจากนี้ ควรมีแพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสารการทดลอง การเรียนรู้ ความคืบหน้า ข้อมูลเชิงลึก และผลลัพธ์ ออกไปสู่พนักงานภายนอกทีมได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กรด้วย

ทีมนี้เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม หรือ “Innovation Hub” ที่จะสร้างวัฒนธรรมแห่งการทดลองเรียนรู้ ไปสู่วิสัยทัศน์ในอนาคตของบริษัท ภารกิจหลักของศูนย์กลางนั้น ควรเป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ หาตลาดและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ในอนาคตขององค์กรด้วย อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้ว “นวัตกรรมควรเป็นงานของทุกคน” เพราะฮับควรเป็นหน่วยฟูมฟักและขับเคลื่อนวัฒนธรรมนวัตกรรมภายในองค์กรมากกว่า

สำหรับศูนย์กลางนวัตกรรมที่เข้มแข็งควรมีองค์ประกอบ อาทิ การสนับสนุนจากผู้บริหารที่ช่วยชี้นำทิศทางที่ถูกต้องเพื่อเปิดรับวัฒนธรรมการทดลองและการคิดเชิงอนาคต มีการพิจารณาแบบเจาะลึก โดยใช้ประโยชน์จากตลาดที่มีอยู่แล้วหรือเชื่อมถึงกัน เพื่อหาตลาดใหม่ๆ

นอกจากนี้ ยังควรเป็นทีมที่ประกอบด้วยบุคลากรมากความสามารถจากหลายแผนก เพื่อทำงานร่วมกันให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ รวมถึงการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเชื่อมโยงโมเดลธุรกิจ แหล่งรายได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เข้ากับธุรกิจหลักของบริษัท

พร้อมกันนี้ยังควรทยอยเพิ่มการลงทุนเมื่อไอเดียนั้นๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่า ในขณะเดียวกันก็ต้องกล้าที่จะหยุดการลงทุนในสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

สิ่งสำคัญคือ บริษัทต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมขึ้นในองค์กร ซึ่งจำเป็นต้องมีการโฟกัส ประสานความร่วมมือ และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และให้อิสระในการดำเนินงาน มีเสรีภาพในการแสดงออก และแรงสนับสนุนเพื่อความสำเร็จ