posttoday

ถึงคราวต้องตัดใจ

01 พฤศจิกายน 2553

สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดในการจัดการของเหลือ คือ สินค้าประเภทอาหาร ที่มีกำหนดการหมดอายุ มีวันเสีย ที่จะต้องรีบจัดการโดยด่วน...

สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดในการจัดการของเหลือ คือ สินค้าประเภทอาหาร ที่มีกำหนดการหมดอายุ มีวันเสีย ที่จะต้องรีบจัดการโดยด่วน...

โดย...อานนท์

บ่อยครั้งทีเดียวครับ เมื่อผมได้เห็นเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าชื่อดังต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกเข้ามาจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เสร็จแล้วก็เอาไปเผาทำลาย เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ทำให้ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่า “เสียดาย” ของ เพราะสินค้าทุกชิ้นที่เอาไปทำลายนั้น ยังเป็นของใหม่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะหากเป็นการนำไปให้เด็กๆ ที่ไร้โอกาส

แต่ผมก็ได้คุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ยืนยันว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ แม้จะอยากเอาไปทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ แต่ก็จะก่อให้เกิดการรั่วไหล มีการนำกลับมาขายในตลาด และที่สำคัญ ไม่สามารถส่งเสริมการปราบปราม หรือการสร้างจิตสำนึกในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างได้ผล

ก็ถือว่าเข้าใจในระดับหนึ่งครับ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีเจ้าของลิขสิทธิ์บางรายเริ่มมีแนวคิดว่า อาจจะสามารถนำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไปบริจาคให้เด็กยากไร้ได้ ถ้ามีการกำหนดกรรมวิธีที่เหมาะสม เช่น ตัดยี่ห้อออก หรือสกรีนลายอื่นทับลายลิขสิทธิ์ ก็ต้องรอดูกันไปครับว่าจะมีแนวทางไหนกันบ้าง

ส่วนเรื่องของเราในวันนี้ ผมอยากคุยเรื่องของเหลือ ของเสีย ของทิ้ง ซึ่งก็มีแนวคิดไม่ค่อยต่างไปจากการจัดการสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรอกครับ

สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดในการจัดการของเหลือ คือ สินค้าประเภทอาหาร ที่มีกำหนดการหมดอายุ มีวันเสีย ที่จะต้องรีบจัดการโดยด่วน

หากสังเกตดีๆ ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง ใช้วิธีลดราคาสินค้าอาหารในช่วงเย็น หรือดึก ซึ่งจะได้ประโยชน์ใน 2 แง่ คือ ด้านแรก เป็นการสื่อสารกับลูกค้าว่า สินค้าประเภทอาหารของห้างนี้ ไม่มีค้างคืน จะหมดวันต่อวัน เพราะพอถึงเวลา เช่น หลัง 2 ทุ่ม ก็จะลดครึ่งราคา เพื่อขายให้หมดไปโดยเร็ว

อีกด้านหนึ่ง เป็นการเร่งขายเพื่อไม่ให้เกิดของเหลือ เพราะหากไม่ลดราคา ก็ขายไม่ได้ในกำหนด ของก็ค้าง ของสดกลายเป็นของเสีย การทำวิธีเช่นนี้ จึงเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะลดราคาอย่างมากแล้ว ก็ยังอาจจะเหลือสินค้าอาหารที่ขายไม่หมดอยู่อีก แล้วจะทำอย่างไรละครับ

สำหรับเจ้าของกิจการที่ใจดี ก็จะยกให้ลูกจ้าง หรือพนักงานในร้าน เพื่อนำไปรับประทานที่บ้าน แต่เจ้าของกิจการบางรายก็ไม่ยอมให้ แต่จะนำไปทิ้งขยะ หรือถึงกับเผาทำลายให้มันรู้แล้วรู้รอดไป

คนประเภทหลังนี้ ถูกมองว่า “ใจร้าย” ครับ

แต่ถ้ามองให้ดี เขาใจร้ายจริงหรือเปล่า

บางที มันแล้วแต่กิจการ แล้วแต่สินค้า ที่จะต้องมีการจัดการที่แตกต่างกันครับ

หากเป็นอาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว ที่มีการกำหนดวันผลิต วันหมดอายุที่แน่นอน ปะเอาไว้ตัวโตๆ เลย แบบนี้สามารถยกให้พนักงาน หรือลูกจ้างในร้านเอากลับบ้านไปเป็นอาหารเย็นได้ครับ และจะได้ใจลูกจ้างด้วย ที่เห็นว่าเจ้านายมีน้ำใจ

แต่สินค้าอาหารบางอย่างก็ยกให้ไม่ได้ เช่น ผลไม้ที่ยังไม่ได้ตัดแต่ง สมมติว่าเราขายแอปเปิล และเรารู้ว่าแอปเปิลที่ดีควรจะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน พอครบวันที่ 7 แล้ว เมื่อดูภายนอก แอปเปิลก็ยังอาจจะสวยงาม สดใส เต่งตึงอยู่ แต่หากผ่าเข้าไปดู อาจจะพบรอยช้ำ หรือเนื้อที่แฟบ ไม่ชวนรับประทาน

หากเรามอบให้ลูกจ้างเอาไปรับประทานที่บ้าน แน่นอนว่ายังกินได้ครับ และเขาก็ได้ประโยชน์ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ดอดเอาไปแอบขายลดราคา หรือแม้แต่เอาไปขายหลังร้านเรานั่นแหละ ทำให้เราเสียหาย

ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเป็นผัก ผลไม้ หากเราไว้ใจ ปล่อยให้ลูกจ้างเป็นผู้คัดสรรว่า ผัก ผลไม้อันไหนที่เริ่มเสีย และต้องเก็บทิ้ง และถ้ามีการทิ้ง เราจะยกให้ลูกจ้าง สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ เขาจะพยายามคัดแล้วบอกว่า เน่าเสียให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาจะได้ของกลับบ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย

หากเขาเอาไปรับประทานเอง ก็ไม่เท่าไหร่ แต่อย่างที่ว่า หากเขาเอาไปขายตัดราคาเรา เราก็เสียหาย ดังนั้นสินค้าอาหารบางอย่าง “ยกให้” ลูกจ้างเพื่อนำกลับบ้านไม่ได้หรอกครับ หากเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าทุกคนจะปฏิบัติอย่างซื่อสัตย์ ก็เลยต้องกันไว้ก่อน ด้วยการเผาทำลาย หรือหากอยากได้บุญ ก็อาจจะเอาไปบริจาคในสถานที่ซึ่งแน่ใจว่าผู้รับบริจาคยังสามารถรับประทานได้ และเขาไม่หวนกลับมาทำร้าย ทำลายกิจการของเรา

แต่ถ้าไม่มั่นใจอะไรเลย มาตรการทำลายสินค้าอย่างคนใจแข็ง ใจร้าย เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตัดใจทำให้ลงครับ ไม่งั้นจะเสียใจภายหลังแน่นอน