posttoday

คาแรกเตอร์บูม องค์กรธุรกิจปรับใช้

15 มกราคม 2562

อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโต สอดรับ การเปลี่ยนผ่านของยุคดิจิทัล

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโต สอดรับ การเปลี่ยนผ่านของยุคดิจิทัล ซึ่ง ส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ มาจากตลาดเกมและตลาดคาแรกเตอร์ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และนับเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต ที่มี ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

กฤษณ์ ณ ลำเลียง นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์นับเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะคาแรกเตอร์คนไทย บริการรับจ้างการพัฒนา และได้รับการตอบรับจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ในปี 2562 นี้มีมูลค่าอยู่ที่ 2,448 ล้านบาท เติบโต 10-12% จากปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2,201 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวมีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.รายได้การจำหน่าย นำเข้าและตัวแทนจำหน่าย ที่คาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่าอยู่ที่ 2,151 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 1,959 ล้านบาท 2.รายได้จากผู้รับจ้างผลิตงาน ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 191 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 150 ล้านบาท และ 3.รายได้จากการผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง คาดอยู่ที่ 106 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 92 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยการเติบโตที่สำคัญ มาจากตลาดการบริการรับจ้างพัฒนาและออกแบบคาแรกตอร์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากกระแสการผลิตคาแรกเตอร์ โดยเฉพาะสติ๊กเกอร์ในแอพพลิเคชั่นไลน์ที่มีมูลค่าการขายมากกว่า 500 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผู้ผลิตคาแรกเตอร์คนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาด

อีกทั้งส่วนหนึ่งมาจากภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่มีความตื่นตัว สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนที่เป็นสัญลักษณ์ขององค์กร หรือแมสคอต และสติ๊กเกอร์สำหรับใช้สื่อสารภาพลักษณ์และแบรนด์ขององค์กร เสมือนเป็นพรีเซนเตอร์ทำหน้าที่สร้างการจดจำและโปรโมทให้แบรนด์มีศักยภาพทางธุรกิจ ซึ่งจะเห็นเทรนด์ของตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์เข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ดังนั้น หากจำแนกรายได้ของผู้รับจ้างผลิตงาน จะพบว่า ประเภทของผู้ซื้อของอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ส่วนใหญ่ 96% จะเป็นผู้บริโภคทั่วไป และ 4% เป็นองค์กรภาคธุรกิจ แต่หากดูรายได้จากผู้ว่าจ้าง ส่วนใหญ่ 69% เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ ถัดมา 27% เป็นภาคองค์กรธุรกิจ และ 2% เอเย่นต์โฆษณา และ 2% เป็นหน่วยงานภาครัฐ

พร้อมกันนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมามูลค่าการผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองในตลาดไทยมีสัดส่วนเพียง 5% และส่วนใหญ่ 95% ยังเป็นลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าเพื่อบริโภคหรือมูลค่าลิขสิทธิ์ของงานในปี 2560 สูงถึง 1,468 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% จากปี 2559

กฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคเอกชนต้องการความร่วมมือจากภาครัฐในการสนับสนุนการจัดทำคอนเทนต์โควตา เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น จีน มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี พร้อมสนับสนุนพื้นที่การเผยแพร่ เพื่อช่วยควบคุมและกระตุ้นอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยให้เติบโต