posttoday

รัฐบาลขยับทัพลงทุน บูมพัฒนาท้องถิ่น

14 มกราคม 2562

รัฐบาลขยับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนมุ่งไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นทั้ง ภาคการผลิต เกษตร ท่องเที่ยวท้องถิ่น 

รัฐบาลขยับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนมุ่งไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นทั้ง ภาคการผลิต เกษตร ท่องเที่ยวท้องถิ่น 

*****************************

โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ

แม้จะย่างเข้าสู่ช่วงเวลาเตรียมเลือกตั้ง แต่หัวเรือใหญ่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ยังคงเดินสายขันนอตการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดคือ “การบ้าน 9 ข้อ” ส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

“สมคิด” กล่าวว่า บีโอไอเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาด้านคุณภาพคือลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสามารถทำด้านแรกไปได้ไกล เช่น กรณีของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ไปได้ดี แม้ส่วนหนึ่งของการเติบโตของด้านแรกจะส่งผลดีถึงประชาชนรากหญ้าแต่ยังไม่มากพอ จะต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ลดความเหลื่อมล้ำออกมาให้ครบ

“ตอนนี้อีอีซีติดลมบนไปแล้ว รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญ แต่มาตรการส่งเสริมต่างๆ คงเพียงพอแล้ว แต่ต่อไปนี้ทิศทางนโยบายให้ลงไปข้างล่างเป็นไพรออริตี้แรกทั้งภาคการผลิต เกษตร ท่องเที่ยวท้องถิ่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญมาก เพราะขณะนี้ท่องเที่ยวสามารถขยายตัวมีมูลค่าของรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือ 19.5% ของจีดีพี สูงกว่าภาคเกษตรมาก จะต้องเอาท่องเที่ยวมาเป็นหลักแล้วสร้างสิ่งรอบๆ ทั้งเกษตร การผลิต สินค้า โลจิสติกส์ให้เกาะไปกับการท่องเที่ยว ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สนับสนุน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

สมคิด กล่าวว่า การที่การท่องเที่ยวได้ขยับขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญหนึ่งของเศรษฐกิจจากเดิมที่มีเพียงการลงทุนอุตสาหกรรมและการส่งออกนี้เอง ทำให้หลังจากนี้จะมอบหมายให้ทุกหน่วยงานหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ โดยนำประเด็นการท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วมกันส่งเสริม การจัดทำงบประมาณจะต้องบูรณาการให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวลงไปสู่เมืองรอง ซึ่งรัฐบาลเริ่มส่งเสริมจริงจัง ในปีที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่มาจากเมืองรองได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ทุกหน่วยงานจึงต้องร่วมกันผลักดันต่อ ด้วยการหาช่องทางการลงทุนดึงให้เมืองรองเกิดความโดดเด่นขึ้นมา โดยไม่ใช่แค่การก่อสร้าง ปรับปรุง พัฒนาโรงแรม หรือพิพิธภัณฑ์ แต่อยากให้รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ไม่อย่างนั้นงบประมาณที่จัดสรรไปจะลงไปครอบคลุมเฉพาะโรงแรมเท่านั้น แม้กระทั่งเรื่องการจัดการขยะ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องผลักดัน เพื่อเป้าหมายให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำให้ได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันบูรณาการด้านงบประมาณ ได้ให้หลักการว่าการจัดทำงบประมาณทั้งหมด ต้องมุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้ได้ จากการหารือทางกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำเสนอการขอจัดสรรงบประมาณลงไปพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างเป็นระบบ

ขณะที่กระทรวงคมนาคมต้องหาทางปรับปรุงการบูรณาการงบประมาณด้านการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะงบประมาณด้านการพัฒนาทางหลวงชนบทลงไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวให้อยู่ภายใต้แผนการทำงานหลักของกระทรวงคมนาคม โดยไม่ต้องนำมาฝากไว้ภายใต้งบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปดำเนินการปรับปรุงด้านตำรวจท่องเที่ยวก็ต้องดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

“งบประมาณที่ตั้งมาต้องไปดูให้ชัดทุกเรื่อง ได้มอบให้ รมว.ท่องเที่ยวฯ ไปจัดทำให้ชัดเจนและแรงพอ เพราะจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะก้าวขึ้นมาเป็นกระทรวงสำคัญมาก เพราะต้องดูแลนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน และดูแลธุรกิจที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจสูง จะต้องสร้างกิจกรรมทุกอย่างรอบๆ การท่องเที่ยวขึ้นมาและต้องไม่ใช่ต่างคนต่างทำ กระทรวงวัฒนธรรม คมนาคม มหาดไทย ต้องเข้ามาร่วม” สมคิด กล่าว

นอกจากการผลักดันให้ท่องเที่ยวท้องถิ่นเป็นแกนกลางเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนและการผลิตเพื่อสนับสนุนแล้ว รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังให้นโยบายกับบีโอไอ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการทำนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ซึ่งประกาศนโยบายไปแล้วก็ให้สานต่อโดยเฉพาะการลงทุนรถไฟทางคู่เส้นทางคู่ชุมพร-ระนอง ซึ่งจะเป็นข้อต่อสำคัญที่
จะเชื่อมภาคใต้เข้ากับอีอีซี

“ดวงใจ อัศวจินตจิตร์” เลขาธิการคณะกรรมการบีโอไอ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันคือผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอื่น ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว สอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา จึงได้เห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขและเพิ่มกิจการท่องเที่ยว

ประกอบด้วยปรับปรุงแก้ไขหรือขยายขอบเขตประเภทกิจการ รวมถึงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเดิมพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบที่หลากหลายและลดวงเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 100 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ในเมืองรองต่างๆ รวมถึงปรับปรุงวงเงินขั้นต่ำของการลงทุนกิจการสนามแข่งเป็นลงทุนขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ เพื่อให้ได้สนามแข่งขันที่มีคุณภาพ

รวมถึงเพิ่มกิจการที่ให้การส่งเสริมท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ กิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และได้มาตรฐานสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยต้องมีการลงทุน 100 ล้านบาท