posttoday

3 ทักษะแรงงาน ปรับเพื่อรอดยุคเอไอ

07 มกราคม 2562

หลายองค์กรภาคธุรกิจได้ตื่นตัวกับยุคเปลี่ยนผ่านของระบบหุ่นยนต์และ เอไอ ที่เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้น และมีความกังวลว่า อนาคตอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคแรงงาน

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ปัจจุบันหลายองค์กรภาคธุรกิจได้ตื่นตัวกับยุคเปลี่ยนผ่านของระบบหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้น และมีความกังวลว่า อนาคตอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคแรงงาน

สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ ภาคธุรกิจและสาขาอาชีพทั้งพนักงาน องค์กร และหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน ด้วยการเรียนรู้ตลอดเวลาแบบต่อเนื่องและรวดเร็วเพื่อการอยู่รอด

ทั้งนี้ ในภาคแรงงานมนุษย์นั้นยังมีจุดแข็ง ด้วยทักษะด้านต่างๆ ที่จะไม่ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ประกอบด้วย ทักษะทางสังคม ทั้งการสื่อสารทางวาจาและลายลักษณ์อักษร การให้ความร่วมมือ การร่วมแก้ปัญหา การจัดระเบียบ การบริการลูกค้า ความเป็นผู้นำ และการจัดการ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในทักษะที่ หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้

ขณะเดียวกัน ทักษะทางด้านเทคนิค ความสามารถในการทำงานและประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งระบบอัตโนมัติ ไม่สามารถทำได้ เช่น การควบคุมคุณภาพ กระบวนการตรวจสอบสินค้าในระหว่างการผลิต รวมถึงทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนผ่านของระบบอัตโนมัติไม่ใช่การตื่นตัวแต่ในไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนผ่านทั่วโลก

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคแรงงานยุคใหม่ต้องสร้าง คือ ทัศนคติ ความยืดหยุ่น พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ทั้งด้านภาษาที่ 2 และ 3 ทักษะดิจิทัล ความรู้ความสามารถทางเทคนิคเชิงลึกในแต่ละสายงานและประสบการณ์เพื่อมุ่งสู่แรงงานคุณภาพสูง ซึ่งหากมีครบทั้ง 3 ทักษะจะช่วยโอกาสในการตกงานลดน้อยลง และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้

ขณะที่แนวโน้มของสายอาชีพที่ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานใน 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ สายไอที ซึ่งปัจจุบันเป็นสายอาชีพที่หลายองค์กรให้การสนับสนุนและเดินหน้าลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และประกันภัย ซึ่งแรงงานไอทียังจำเป็นต้องตื่นตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อปรับตัวและรับมือกับเทคโนโลยี โปรแกรม และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ

เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่บริการลูกค้าประเภทต่างๆ ที่ยังมีความต้องการในตลาดค่อนข้างสูง รวมถึงภาคการผลิต ที่ช่างและวิศวกรรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถในการซ่อมบำรุง ควบคุมและบริหารเครื่องจักร และทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ที่ใช้ทำงานย่อย

อย่างไรก็ตาม ยังมีภาคแรงงานที่อาจมีความจำเป็นลดลง ได้แก่ ด้านธุรการ งานประจำออฟฟิศ เช่น การเงินและระบบบัญชีที่มีระบบอัตโนมัติเข้า  มาแทนที่ รวมถึงลักษณะงานกิจวัตรประจำวัน เช่น ด้านการทำความสะอาด ที่มีหุ่นยนต์เข้าทดแทน ส่วนอุตฯ สื่อและสิ่งพิมพ์ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่

สุธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อการลงทุนจากต่างชาติ และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ผ่านมา และการเดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะช่วยให้ไทยมีความหลากหลายในรูปแบบการทำงานและอาชีพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับตัวสอดรับให้ทันกับโลกอนาคตและโอกาสที่เกิดขึ้น