posttoday

เลอโนโววิเคราะห์ 4 เทรนด์ เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์

31 ธันวาคม 2561

เทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากความต้องการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ปี 2562

เทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากความต้องการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ปี 2562 การเชื่อมต่อแบบไร้ขีดจำกัด การใช้งานระบบออโตเมชั่น และเทคโนโลยีโลกเสมือน จะถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้น เลอโนโววิเคราะห์ 4 แนวโน้มหรือเทรนด์เพื่อรับมือกับยุคดิจิทัล

ธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคอินโดจีน บริษัท เลอโนโว เปิดเผยว่า เทรนด์ที่ 1. เทคโนโลยีสร้างประโยชน์ : ไอโอที เอไอ และเออาร์/วีอาร์ ช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดน ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของออโตเมชั่นแบบเต็มรูปแบบ ช่วยให้การใช้งานผ่านมุมมองโลกเสมือนได้เหมือนจริงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

สำหรับแนวโน้มทั้งปี 2562 ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงสำหรับสถาบันการศึกษา ร้านค้าปลีกและอีกมากมาย หากอ้างอิงจากผลวิจัยของ Accenture พบว่ากว่า 72% ของผู้บริหารธุรกิจสุขภาพ เชื่อว่าโลกเสมือนจริงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานทุกอุตสาหกรรม 5 ปีข้างหน้า

“ตัวอย่างอุตสาหกรรม สุขภาพ เทคโนโลยีไอโอที และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ถูกพัฒนาด้วยเอไอ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ เช่น ลดเวลาในการรอห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล การควบคุมและดูแลบริการด้านสุขภาพจากทางไกล ผลการวิจัยโดยมาร์เก็ตรีเสิร์ซ ภายในปี 2563 ด้านสุขภาพจะถูกใช้กันแพร่หลาย โดยคิดเป็นตัวเงินมากถึง 1.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 38% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558”

ส่วนเทรนด์ที่ 2 : สมาร์ทสเปซ เมื่อทุกอย่างรอบตัวเราฉลาดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทซิตี้ ดิจิทัล เวิร์กสเปซ หรือสมาร์ทโฮม จากการศึกษาล่าสุดความพึงพอใจของลูกค้า พบว่าเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และตอบโจทย์คือสิ่งที่ผู้ใช้งานมองหา หากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไม่ตอบสนองต่อความต้องการ แนวโน้มคนเลิกใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้นรวดเร็ว

ธเนศ กล่าวต่อถึงเทรนด์ที่ 3 : เออาร์ไม่เพียงสนุกแต่ต้องเกิดประโยชน์ ตลาดเทคโนโลยีเสมือนจริงในโลกยุคปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายในปี 2561 คาดการณ์ว่าตลาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีโลกเสมือน (AR) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) จะมีเงินสะพัดมากถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ และจากผลการวิจัยของ IDC ได้เปิดเผยว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามียอดเงินสะพัดสูงขึ้นมากถึง 92%

“เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) ได้กลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากท่ามกลางแวดวงอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ วงการเกม ภาพยนตร์ การศึกษาสามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านการจำลองภาพดิจิทัลอีกด้วย และเมื่อเทคโนโลยี 5จี เข้ามาจะส่งผลต่อนวัตกรรมเออาร์มากขึ้น อาทิ การสร้างภาพจินตนาการในชีวิตจริง ระบบความช่วยเหลือระยะไกล”

สำหรับเทรนด์ที่ 4 : ทิศทางของความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แห่งอนาคต มนุษย์ที่มักถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลแล้ว หลายองค์กรยังต้องรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาทิ นโยบายการให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ทำงาน การเข้าถึงระบบจากการทำงานระยะไกล และการจ้างงานแบบชั่วคราว ซึ่งล้วนส่งผลให้ระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลในองค์กรมีประสิทธิภาพลดลง

ธเนศ กล่าวว่า เอไอจะได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันข้อมูลที่ดีที่สุด แต่ก็เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีอื่นๆเอไอเป็นดาบสองคมที่อาชญากรไซเบอร์ทั้งหลายต่างหมายตาไว้ จึงคาดการณ์ว่าในปี 2562 การศึกษาและนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้เพื่อหาข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัยของระบบ หรือเป็นโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยแบบครบวงจร ช่วยให้หาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยง่ายขึ้น 4 หัวข้อด้านความปลอดภัยที่องค์กรต้องป้องกันคือ ข้อมูล ตัวตน ระบบออนไลน์ และอุปกรณ์