posttoday

เปิด 8 โครงการนำร่อง ญี่ปุ่นร่วมสร้างธุรกิจใหม่

28 ธันวาคม 2561

โครงการความร่วมมือนำร่องระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

โครงการความร่วมมือนำร่องระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อบ่มเพาะอุตสาหกรรมใหม่ (Thailand-Japan joint pilot project for nurturing new industries) ที่ต้องการสร้างสู่ธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นความร่วมมือทำโครงการระหว่างเอกชนไทยและเอกชนญี่ปุ่น รวม 8 โครงการ เพื่อสร้างธุรกิจและผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย

“ฮิโรคิ มิทสึมะตะ” ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า โครงการที่ได้ดำเนินการเพื่อร่วมบ่มเพาะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 8 โครงการ จะช่วยทำให้เกิดการต่อยอดสร้างธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ 8 โครงการประกอบไปด้วย

1.ระบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation) สำหรับการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ โดย บริษัท เด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น ที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ ที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อนำมาใช้กับการผลิตในภาคการผลิต รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

2.คำแนะนำในการดูแลสุขภาพสำหรับคนไทย โดย บริษัท ฟูจิฟิล์ม คอร์ปอเรชั่น ในการผลักดันการสร้างระบบแพทย์แบบใหม่ ที่มีการพัฒนาระบบตรวจเลือดในการวิเคราะห์ผลโรคต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการลดโรคที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อาทิ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

3.การศึกษาความเป็นไปได้ธุรกิจยาเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) โดย บริษัท ฟูจิฟิล์ม คอร์ปอเรชั่น โดย ฟูจิฟิล์ม ได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับตลาดยาเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อมในประเทศไทยแล้ว พบว่ามีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือสร้างห่วงโซ่ที่มูลค่าในประเทศไทยต่อไป

4.การให้บริการระบบ Shared Factory ในประเทศไทย โดย บริษัท
ฮิตาชิ ไฮท์ เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น ที่เป็นการสร้างระบบในแชร์ทั้งโรงงานและระบบฮาร์ดแวร์ ทำให้บริษัทมีการร่วมมือแชร์ทรัพยากรเกิดขึ้น ทำให้บริษัทที่ต้องการสนใจขยายเข้ามาลงทุนไทย สามารถใช้ระบบ Shared Factory ได้
ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุนได้ในระดับไม่สูง เนื่องจากการลงทุนสร้างโรงงานใหม่จะต้องมีการลงทุนระดับสูง

อีกทั้งระบบจะมีการบริหารจัดการผ่านอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที เข้ามาร่วมบริหารโรงงานได้ เช่น หากบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยก็ใช้ระบบแชร์ แฟกตอรี่ ได้

5.การควบคุมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยใช้ IoT โดย Internet Initiative Japan ได้ใช้ระบบ ไอโอทีเพื่อใช้ในฟาร์มกุ้ง ทำให้การเพาะเลี้ยงฟาร์มกุ้งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเป็นระบบที่ช่วยทั้งการบริหารจัดการ ดูแลน้ำ การเก็บข้อมูลและประมวลผลออกมา จึงจะทำให้ได้ผลลัพธ์ของกุ้งที่สูงขึ้นและช่วยดูแลระบบน้ำในฟาร์ม ซึ่งการคิดค้นระบบมาจากการพบว่า การเลี้ยงกุ้งจะมีกุ้งที่อยู่รอดได้ในสัดส่วน 60% และอีก 40% ไม่สามารถอยู่รอดได้ รวมถึงไทยมีการส่งออกกุ้งจำนวนมาก

6.การสร้างระบบซัพพลายเชนแบบสมาร์ทระหว่างประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมเชื่อมโยงข้ามพรมแดน โดย บริษัท โคจิมา อินดัสตรี คอร์ปอเรชั่น ผ่านการใช้ระบบไอโอทีเพื่อควบคุมการผลิตในระยะทางที่ไกล ทำให้สามารถดูแลจัดการซัพพลายเชนและควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาด โดยข้อมูลจากการประเมินของบริษัทพบว่ามีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนผลิตในไทยรวม 2,346 บริษัท มีเครือข่ายซัพพลายเชน 2.81 หมื่นบริษัท โดยหากมีการนำระบบไปใช้ประมาณ 20% จะสามารถสร้างผล
กระทบทางเศรษฐกิจได้ 110.6 พันล้านเยน

7.ระบบแนะนำเส้นทางขั้นสูง โดย บริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นการใช้ระบบจากดาวเทียมที่มีสมรรถนะสูงมาดูแลเส้นทางการจราจรทั้งหมด ทำให้ได้รับข้อมูลที่ละเอียดและมีความชัดเจน แตกต่างจากระบบเนวิเกเตอร์แบบทั่วไป โดยระบบแนะนำเส้นทางขั้นสูงจะสามารถบอกข้อมูลไปยังผู้ขับขี่รถยนต์ได้ว่าถนนมีกี่เลน สภาพเลนใดที่ดีสุด และเลนใดที่มีรถติดน้อยที่สุด จึงสามารถนำมาแก้ปัญหาในเมืองและปัญหาจราจรติดขัดได้

8.ระบบติดตามแบบเรียลไทม์ สำหรับสินค้าผ่านชายแดน โดย บริษัท เอ็นทีที ดาต้า คอร์ปอเรชั่น เป็นการนำมาใช้ในด้านระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยจะติดตามข้อมูลสินค้าแบบเรียลไทม์ และใช้ดูแลระบบการขนส่ง ศุลกากร และเอกสารต่างๆ ทำให้การขนส่งสินค้าในภูมิภาคมีความสะดวกมากที่สุด

“มิทสึมะตะ” กล่าวว่า โครงการนำร่องรวม 8 โครงการ แบ่งเป็น การแพทย์ 1 โครงการ การจราจร 1 โครงการ โลจิสติกส์ 1 โครงการ ไอโอทีเพื่อการเกษตร 1 โครงการ การผลิตขั้นแรก 1 โครงการ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต 3 โครงการ ซึ่งทั้งหมดกำหนดว่าต้องเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนไทยและญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมทำให้เกิดการลงทุนใหม่ในไทยและสร้างธุรกิจใหม่ในประเทศไทย