posttoday

งานวิจัยใหม่พลิกโฉม ภาคอุตสาหกรรม-การแพทย์

27 ธันวาคม 2561

งานวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

งานวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ ได้แก่ การวิจัยพัฒนากระบวนการถ่ายเทความร้อนสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอีกหนึ่งงานวิจัยที่มีผลต่อการแพทย์ครั้งสำคัญกับโครงการวิจัยทางการแพทย์ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอ และตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว โดยทั้งสองโครงการได้รับ “นักวิจัยแกนนำประจำปี 2561” ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2561

โครงการแรก คือ การวิจัยพัฒนากระบวนการถ่ายเทความร้อนสมัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย “ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ” คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายเทความร้อนของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อออกแบบและปรับปรุงกระบวนการถ่ายเทความร้อน ในการนำไปใช้สร้างต้นแบบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนและนำไปใช้จริงกับอุตสาหกรรมในประเทศ

ทั้งนี้ งานวิจัยที่จะสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง จึงลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถนำใช้ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยและนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ที่ในตลาดโลกมีการเติบโตสูง ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งงานวิจัยจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายวิจัยในภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โครงการต่อมา คือ “การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในทางการแพทย์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง : ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอโดยโมเลกุลที่ทำให้จีโนมเสถียร และการตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว” โดย “ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยนี้ต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขความชราและพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็ง

สำหรับการแก้ไขความชราโดยใช้การลดอายุและเพิ่มความเสถียรของดีเอ็นเอด้วยโมเลกุลมณีแดง ที่จะสามารถใช้แก้ไขความชราของเซลล์ได้ โดยทีมวิจัยได้ทำการศึกษาและค้นพบ “โมเลกุลมณีแดง” ที่สามารถเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอ และสามารถใช้แก้ไขความชราของเซลล์ได้

ทั้งนี้ ขั้นตอนการวิจัยของโมเลกุลมณีแดงอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับหนูแล้วซึ่งได้พบตามที่ต้องการ และระยะต่อไปจะต้องมีการขยายผลนำไปทดลองกับสัตว์ และต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานหลายปีกว่าผลการวิจัยจะสำเร็จออกมาได้

การตรวจคัดกรองมะเร็งจากโปรตีนในเม็ดเลือดขาว โดยคณะผู้วิจัยได้ค้นเซลล์มะเร็งจะหลั่งสารที่ทำงานคล้ายฮอร์โมนทำให้เม็ดเลือดขาวจำนวนมากในกระแสโลหิตมีโปรตีนเปลี่ยนไป ดังนั้นการตรวจหาโปรตีนมีความจำเพาะและความไวสูง จึงเพิ่มประสิทธิภาพต่อการตรวจคัดกรองมะเร็ง ผลการศึกษาพบโปรตีนในเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในความไวและความจำเพาะสูงถึง 95% ดังนั้นงานวิจัยนี้ในต้นปีหน้าจะเริ่มนำไปใช้ศึกษาการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และในช่วงปลายปีจะนำไปใช้ศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งสำไส้

สำหรับงานวิจัยของทั้งสองโครงการได้รับการส่งเสริมงบประมาณโครงการละ 20 ล้านบาท จาก สวทช. ในระยะเวลา 5 ปี เชื่อมั่นว่าจะเป็นงานวิจัยที่จะเกิดมูลค่าสูงต่อประเทศ เศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างมาก รวมถึงการช่วยชีวิตคนได้อีกมหาศาล