posttoday

ครม.ไฟเขียวรถไฟฯ กู้เงิน 1.28 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่องปี'62

27 ธันวาคม 2561

ครม.ไฟเขียวการรถไฟฯ กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.2 หมื่นล้าน สั่งปรับปรุงบริการพัฒนาทรัพย์สินลดหนี้

ครม.ไฟเขียวการรถไฟฯ กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.2 หมื่นล้าน สั่งปรับปรุงบริการพัฒนาทรัพย์สินลดหนี้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ได้เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานและกู้เงินระยะสั้นของ รฟท.ประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงินรวม 1.28 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อต่ออายุสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทยต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2562-29 มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ครม.ให้ รฟท.รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ รวมทั้งความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินของ รฟท. การบริหารทรัพย์สินที่มีให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมของ รฟท.ในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 สำหรับโครงการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ ตามโครงการระยะที่ 2-4 ของปีงบประมาณ 2563-2567 รวมระยะเวลา 5 ปี วงเงินลงทุนรวม 1,829.5 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

อย่างไรก็ตาม โครงการซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ เพื่อให้กรมศุลกากรได้ดำเนินการในการบำรุงรักษาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพสามารถดำเนินการได้ เต็มสมรรถนะของระบบตรวจสอบ รวมทั้งจะได้มีการแก้ไขซ่อมแซมเปลี่ยน อะไหล่ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่มีการชำรุด เสื่อมสภาพ หมดอายุการใช้งาน อย่างถูกต้องปลอดภัยตามข้อกำหนดที่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรังสี และเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

"ปัจจุบันมีเครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทน เนอร์สินค้าที่จะสิ้นสุดสัญญาการบำรุงรักษาในวันที่ 30 ก.ย. 2562 จำนวน 10 เครื่อง โดยกรมศุลกากรมีการว่าจ้างผู้ผลิตทำการดูแลรักษาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรทั้งระบบ ซึ่งต้องได้งบประมาณในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ประกอบกับเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีที่มีวงเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบตามขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว" นายพุทธิพงษ์ กล่าว