posttoday

คมนาคมย้ำเมกะโปรเจกต์ไม่ล่ม ปี'62ลงทุน 5.8 หมื่นล.

26 ธันวาคม 2561

โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ น่าจับตาดูว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ไหนบ้างที่ร่วงหล่นตกขบวน

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อาสาเข้ามาวางโรดแมปพ่วงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนรมิตโครงการเมกะโปรเจกต์มากมาย ที่รัฐบาลนี้เชื่อว่าจะสามารถ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงยั่งยืน  ทว่าเส้นตายเลือกตั้งได้ขีดเอาไว้แล้วในวันที่ 24 ก.พ. จึงน่าจับตาดูว่าโครงการไหนบ้างที่ร่วงหล่นตกขบวน

สำหรับหมัดเด็ดที่รัฐบาลนี้สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการให้ตอกเสาเข็มได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือ การเปิดให้เอกชนร่วมทุนในโครงการของภาครัฐ (พีพีพี) และการระดมทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนโครงการร่วมลงทุน พีพีพี รวมมูลค่ากว่า 9.38 แสนล้านบาท
    
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทั้งเทคนิคและอำนาจพิเศษ ทว่ายังมีเมกะโปรเจกต์หลายแผนลงทุนมูลค่ารวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ที่ไม่สามารถผลักดันให้เปิดประมูลได้ทันเลือกตั้งหรือไปถึงขนาดพับโครงการและชะลอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจ

ไฮสปีดสองเส้นวืด

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะไม่สามารถเปิดประมูลหรือเสนอ ครม.ได้ทันช่วงกลางเดือน ก.พ.ก่อนเลือกตั้ง โดยเส้นกรุงเทพฯหัวหิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ขณะนี้ ติดปัญหาเรื่องการปรับแนวเส้นทางและจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อม ขณะที่เส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงินราว 5.26 แสนล้านบาท จากการประชุมร่วมระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กับประเทศญี่ปุ่นในช่วง ต้นเดือน ธ.ค.นั้น ฝ่ายญี่ปุ่นยังยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ร่วมลงทุนโครงการนี้แน่นอน เพราะเป็นเม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่ รัฐบาลควรแบกรับภาระเพื่อพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นทั้งสองโครงการจึงเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดต่อไป

ขณะที่โครงการร่วมทุนระยะเร่ง ด่วน PPP Fast Track นั้นมี 6 โครงการ มูลค่ารวม 4.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ นครปฐม- ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งติดปัญหาเรื่องการออกแบบเส้นทางและปรับเพิ่มค่าเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะเปิดประมูลได้ช่วงปลายปี 2562

ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทนั้น ต้องปรับแนวเส้นทางจนต้องรื้อกลับไปศึกษาใหม่ ส่วนแทรม จ.เชียงใหม่ และนครราชสีมา วงเงินลงทุนรวม 1.32 แสนล้านบาท ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางให้เอกชนร่วมทุนใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนก่อนเสนอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจต่อไป

คมนาคมย้ำเมกะโปรเจกต์ไม่ล่ม ปี'62ลงทุน 5.8 หมื่นล.

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสองสายที่ปัจจุบันยังไม่สามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อเปิดประมูลได้ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งติดปัญหาเรื่องพื้นที่ละเอียดอ่อนที่ อาจมีข้อพิพาทเรื่องเวนคืน

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร วงเงิน 2  หมื่นล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคม ได้สั่งชะลอแผนลงทุนหลังประมาณการผู้โดยสารน้อยช่วงชานเมือง จึงอยาก รอดูความต้องการของผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ที่จะเปิดบริการช่วงปี 2562- 2563 ก่อน

ด้านระบบขนส่งทางอากาศ ยังต้องลุ้นว่า ครม.จะเคาะแผนพัฒนาเร่งด่วน ได้ทันเลือกตั้งหรือไม่ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่สาม วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โครงการขยายอาคารฝั่งตะวันตก (เวสต์วิง)  วงเงิน 7,000 ล้านบาท รวมถึงแผนลงทุนล่าสุดที่บอร์ด ทอท.อนุมัติอย่างอาคารผู้โดยสารหลังที่สอง วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท แต่มีกรณีปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อน

"อาคม"ยันโปรเจกต์ไม่แท้ง

 อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยในเวที "ยุทธศาสตร์คมนาคม ยุทธศาสตร์สร้างชาติ" ว่ารัฐบาลชุดนี้ ได้วางแผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระหว่างปี 2558-2565 วงเงิน 2 ล้านล้านบาท  ทั้งโครงการรถไฟฟ้าเฟส 2 รวม 10 เส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ทางด่วนและสนามบิน

"สำหรับประเด็นที่มีความเป็นห่วงว่าบางโครงการที่วางแผนไว้จะไม่ราบรื่น ต่อเนื่องหรือถูกล้มเลิกโครงการเมื่อ เปลี่ยนรัฐบาลนั้น เรามีกรอบยุทธศาสตร์  20 ปี เป็นกรอบนำทาง ซึ่งวันนี้ได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ต้องมีกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่กำกับการทำงานของรัฐบาลในทุกรัฐบาล"

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน (แอ็กชั่นแพลน) ที่จะริเริ่มผลักดันในปี 2562 นั้นมีโครงการใหม่ 11 โครงการ วงเงินรวม 5.8 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3.53 หมื่นล้านบาท โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และตรัง โครงการที่พักริมทางหลวงพิเศษ บางใหญ่-กาญจนบุรี บางปะอิน-นครราชสีมา พัทยา-มาบตาพุด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาถนนท่องเที่ยว เลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Southern Riviera) ช่วงชุมพร-สงขลา  วงเงิน 60 ล้านบาท โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย  อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 80  ล้านบาท โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือท่าเตียน กรุงเทพฯ วงเงิน 40 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือท่าช้าง กรุงเทพฯ วงเงิน 60 ล้านบาท เป็นต้น