posttoday

ผลวิจัยเผยคนกรุงควักค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน

25 ธันวาคม 2561

นักวิจัยชี้ค่ารถไฟฟ้าแพงกว่ารถเมล์เท่าตัว เปิด 5 จุดเชื่อมต่อระบบขนส่งยอดนิยม ด้านสนข.กางแผนเปิดเส้นทางรถโดยสารไฟฟ้า นำร่อง 6 เมืองหลัก

นักวิจัยชี้ค่ารถไฟฟ้าแพงกว่ารถเมล์เท่าตัว เปิด 5 จุดเชื่อมต่อระบบขนส่งยอดนิยม ด้านสนข.กางแผนเปิดเส้นทางรถโดยสารไฟฟ้า นำร่อง 6 เมืองหลัก

ดร.สุรินทร์ คำฝอย ผู้จัดการโครงการแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่างานวิจัยข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่าระบบรถไฟฟ้ามีอัตราค่าใช้จ่ายมากที่สุด คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาท/เดือน รองลงมาคือรถตู้สาธารณะ มีค่าเฉลี่ยที่ 2,100 บาท/เดือน ต่อมา คือเรือด่วนคลองแสนแสบ มีค่าเฉลี่ยที่ 1,700 บาท/เดือน ส่วนด้านรถเมล์ปรับอากาศอยู่ที 1,400 บาท/เดิอน และรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 1,200 บาท/เดือน เช่นเดียวกันกับอัตราค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาท/เดือน

ดังนั้นจึงพบว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันนั้นสูงกว่าค่ารถเมล์ร้อนมากกว่า 100% ขณะที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลจะมีอัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,200 บาท/เดือนซึ่งสูงกว่ากว่ารถเมล์ร้อนเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 150%

ดร.สุรินทร์กล่าวอีกว่างานวิจัยดังกล่าวยังพบว่าจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ 5 อันดับที่ได้รับความนิยมจากประชากรเมืองหลวงจนเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางฟีดเดอร์รองรับการเดินทางของประชาชนและเชื่อมเส้นทางรถไฟฟ้า ประกอบด้วย 1.จตุจักร มีปริมาณ 66,900 คน/เที่ยววัน 2.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีปริมาณ 48,500 คน/เที่ยววัน 3.วงเวียนบางเขน-สะพานใหม่ มีปริมาณ 38,200 คน/เที่ยววัน 4.เดอะมอลล์งามวงศ์วาน มีปริมาณ 32,300 คน/เที่ยววัน 5.สนามหลวง มีปริมาณ 22,500 คน/เที่ยววัน

อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่าภาพรวมผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถเมล์ในกรุงเทพมหานครมีปริมาณเฉลี่ย 2.16 ล้านคน/วัน แบ่งเป็นผู้โดยสารรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 65% คิดเป็น 1,404,000 คน/วัน และ รถเมล์ปรับอากาศ 35% คิดเป็น 756,000 คน/วัน

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มารองรับการเดินทางของประชาชนควบคู่กับการลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เบื้องต้นได้คัดเลือกเมืองเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ 6 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ โดยนำร่องเส้นทางสาย 137 รามคำแหง-ถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 26 กม. มีผู้โดยสารใช้บริการ 10,259 คนต่อวัน

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า 2.เชียงใหม่ นำร่องเส้นทางเดินรถระบบหลักเมืองเชียงใหม่สายสีเขียว 11.92 กม. ผู้โดยสาร 5,539 คนต่อชม.ต่อทิศทาง 3.นครราชสีมา นำร่องสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กม. ผู้โดยสาร 10,060 คนต่อวัน 4.พระนครศรีอยุธยา นำร่องสาย 1 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา-รอบเมือง วนซ้าย 24 กม. มีผู้โดยสาร 4,285 คน และ สาย 2 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา-รอบเมือง วนขวา 24 กม. ผู้โดยสาร 4,000 คน 5.ชลบุรี นำร่องเส้นทาเดินรถสาย 1 แยกเฉลิมไทยฯ-ชลบุรี-นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ 5.7 กม. ผู้โดยสาร 2,016 คน และ 6.ภูเก็ต นำร่องเส้นทางเดินรถสาย 1814 เส้นทางภูเก็ต-ป่าตอง 14 กม. มีผู้โดยสาร 109 คนต่อวัน

นายสราวุธกล่าวต่อว่าคาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จ มี.ค. 2562 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเห็นชอบผลการศึกษาต่อไป รายงานข่าว สนข. ระบุว่า อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล เส้นทางนำร่อง โดยเส้นทางที่เลือกมานำร่องจากปัจจัยปริมาณผู้โดยสารในรถหมวด 1 ที่วิ่งให้บริการภายในเมือง จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ความถี่ในการเดินรถ ดูพื้นที่ทางกายภาพ เช่น เส้นทางผ่านพื้นที่สถานโบราณ ความกว้างของช่องจราจร รวมทั้งจุดให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ รูปแบบการลงทุนในแต่ละเส้นทาง จำนวนรถเมล์ไฟฟ้าที่จะใช้ในพื้นที่ที่ต่างกัน เช่น พื้นที่ กรุงเทพฯ 1 เส้นทางคาดว่าจะใช้รถเมล์ไฟฟ้า 23 คัน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเร่งด่วนได้ ขณะที่ต่างจังหวัดใช้รถเมล์ไฟฟ้าประมาณ 5-10 คัน ขึ้นอยู่ความต้องการแต่ละพื้นที่ คาดว่า ผลการศึกษาแล้วเสร็จจะสามารถนำร่องพื้นที่ ในกรุงเทพฯ ก่อน เพราะมีความพร้อมทั้งภาครัฐ และมีความต้องการในการเดินทางจำนวนมาก