posttoday

ถอดบทเรียนธุรกิจ ก่อนใช้เอไอในองค์กร

24 ธันวาคม 2561

แม้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะกลายเป็นคำที่คุ้นหูคนในแวดวงธุรกิจมากขึ้น แต่การหยิบจับเอไอมาประยุกต์ใช้กับองค์กรอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

แม้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ จะกลายเป็นคำที่คุ้นหูคนในแวดวงธุรกิจมากขึ้น แต่การหยิบจับเอไอมาประยุกต์ใช้กับองค์กรอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หลายองค์กรที่เริ่มนำเอไอเข้ามาใช้ในองค์กรต่างเผชิญบทเรียนกันมาแล้ว

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา จึงได้จัดงาน CMKL Tech Summit 2018 รวบรวมวิทยากรทั้งในไทยและระดับโลกที่คร่ำหวอดด้านเอไอ เพื่อช่วยถ่ายทอดถึงสถานการณ์ด้านเอไอ และบทเรียนธุรกิจที่ได้เรียนรู้จากการนำเอไอมาใช้ในองค์กร

วรนันท์ วรมนตรี นักวางกลยุทธ์องค์กร บริษัท เบทาโกร กล่าวว่า เบทาโกรได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล สนับสนุนคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ดำเนินโครงการทดลองเกี่ยวกับเอไอมาประมาณ 1 ปี โดยใช้เอไอช่วยเรียนรู้พฤติกรรมของหมูในฟาร์ม เพื่อให้ทราบได้อย่างทันท่วงทีว่าหมูตัวใดกำลังมีอาการป่วย ช่วยให้รักษาหมูได้ทัน ลดอัตราการตายของหมู และคงผลิตภาพให้ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการได้เรียนรู้ผ่านอุปสรรคหลายอย่าง แต่การนำเอไอเข้ามาใช้ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ยังต้องศึกษาและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากโครงการสำเร็จ จะไม่ได้ช่วยเพียงแค่บริษัท แต่สามารถนำไปช่วยได้กับทุกอุตสาหกรรม

ธีรวัฒน์ อัศวโภคี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เล่าว่า ที่ผ่านมาหลายองค์กรมักตั้งคำถามว่า “ฉันหรือองค์กรจะสามารถใช้เอไอได้อย่างไร” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ผิด หากต้องการจะนำเอไอมาประยุกต์ใช้ในองค์กร คำถามที่ควรเริ่มตั้งคือ “เป้าหมายขององค์กรคืออะไร” และ “เอไอจะสามารถปลดล็อกให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้อย่างไร” ดังนั้น องค์กรต้องนำเป้าหมายขององค์กรเป็นตัวตั้งก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าจะนำเอไอเข้ามาช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้อย่างไร

ที่สำคัญ ทั้งองค์กรและผู้บริหารต้องเปิดใจและมุมมองให้กว้าง ต้องอย่าคิดว่าเอไอและบิ๊กดาต้า คือ “กระสุนเงิน” ที่จะช่วยบุกทะลวงฝ่าฟัน แก้ไขทุกปัญหาให้องค์กร และไม่ตั้งความหวังสูงเกินกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานและองค์กรกล้าที่จะผิดพลาดเพื่อเรียนรู้

ด้าน สุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น เปิดมุมมองว่า แม้บริษัทจะมีวิศวกรอยู่มากมาย แต่ก็ยังประสบปัญหา 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเอไอและการจัดการข้อมูล 2.การรวบรวมชุดข้อมูลให้เพียงพอสำหรับเอไอและอัลกอริทึ่มมาประมวลผล

ถอดบทเรียนธุรกิจ ก่อนใช้เอไอในองค์กร

ทั้งนี้ บริษัทแก้ไขด้วยการทยอยฝึกอบรมและพัฒนาวิศวกรภายในให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเอไอ ผ่านหลักสูตรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วจากภายนอกควบคู่กันไป เพื่อให้บริษัทมีทีมด้านเอไอเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ส่วนปัญหาด้านการรวบรวมชุดข้อมูลกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมชุดข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์เพิ่มเติม

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า เอไอสามารถช่วยแก้ปัญหาให้แก่ภาคธุรกิจได้ในวงกว้าง โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากเอไอในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจบริการสุขภาพ ยานยนต์ บริการด้านการเงิน โลจิสติกส์ และมีอีกหลายกลุ่มธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรกรรม