posttoday

แห่ใช้สิทธิการค้าคึกคัก ลุ้นสิ้นปีทะลุ7หมื่นล้าน

15 ธันวาคม 2561

ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอและ จีเอสพีช่วง 10 เดือน ปี 2561 มูลค่าทะลุ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โต 8.98% คาดทั้งปีทะลุ 7 หมื่นล้าน

ยอดใช้สิทธิเอฟทีเอและ จีเอสพีช่วง 10 เดือน ปี 2561 มูลค่าทะลุ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ โต 8.98% คาดทั้งปีทะลุ 7 หมื่นล้าน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง การค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2561 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวมอยู่ที่ 6.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.98% โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ 75.02% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิทั้งหมด แยกเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอมูลค่า 5.83 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.82% คิดเป็นสัดส่วน 76.40% ของมูลค่าส่งออกที่ได้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ และมูลค่าการส่งออกภายใต้จีเอสพีมูลค่า 4,026.73 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.36% คิดเป็นสัดส่วน 59.38% ของมูลค่าที่ได้รับสิทธิจีเอสพี

ทั้งนี้ เมื่อแยกเฉพาะการใช้สิทธิเอฟทีเอ พบว่า ตลาดส่งออกที่ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียนมูลค่า 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ จีนมูลค่า 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์ ออสเตรเลียมูลค่า 7,837.44 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นมูลค่า 6,338.03 ล้านดอลลาร์ และอินเดียมูลค่า 3,719.71 ล้านดอลลาร์

ส่วนกรอบความตกลงที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี สัดส่วน 103.77% ไทย-ญี่ปุ่น สัดส่วน 92.04% ไทย-เปรู สัดส่วน 90.54% ไทยออสเตรเลีย สัดส่วน 90.47% และอาเซียน-จีน สัดส่วน 89.78% และสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

ด้านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ จีเอสพีที่ปัจจุบันมี 5 ประเทศที่ให้สิทธิกับไทย คือ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย และเครือรัฐเอกราช นอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยผลการใช้สิทธิในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐยังคงเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าใช้สิทธิ 3,606.77 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.86% คิดเป็นสัดส่วน 68.72% ของมูลค่าที่ได้สิทธิทั้งหมด

"กรมมั่นใจว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9% มูลค่า 7.07 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยปี 2562 ตั้งเป้าว่าการใช้สิทธิประโยชน์ ทั้งเอฟทีเอและจีเอสพีจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% แม้ว่ามีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สงครามการค้าสหรัฐกับจีน ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เพราะกรมมีการส่งเสริมและผลักดันให้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างต่อเนื่อง" นายอดุลย์ กล่าว