posttoday

ยันประมูลก๊าซคุ้มค่า "ศิริ" ลั่นทุกฝ่ายได้ประโยชน์

15 ธันวาคม 2561

พลังงานการันตีผู้ชนะประมูลเอราวัณ-บงกช ระบุราคาก๊าซแค่ราคาตั้งต้น เชื่อเชฟรอนรักษาระดับการผลิตครบตามอายุสัมปทาน

พลังงานการันตีผู้ชนะประมูลเอราวัณ-บงกช ระบุราคาก๊าซแค่ราคาตั้งต้น เชื่อเชฟรอนรักษาระดับการผลิตครบตามอายุสัมปทาน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ถึงกระบวนการประมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือเรียกร้องดังกล่าวของ คปพ. แต่พร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยส่วนตัวมองว่า ผลการประมูลครั้งนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปที่จะได้ใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในราคาที่ถูกลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนผลิตที่ ต่ำลง ส่วนประเด็นราคาก๊าซที่ผลิตได้เสนอต่ำกว่าราคาปัจจุบันมาก และผลตอบแทนรัฐสูงขึ้น ไม่น่าเป็นกังวล เพราะเชื่อมั่นบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่เป็นผู้ชนะ เป็นบริษัทที่มีศักยภาพตามมาตรฐานสากล

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีผู้เข้าใจว่าการแข่งขันประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ที่ ปตท.สผ.เป็น ผู้ชนะการประมูลทั้งสองแหล่งด้วยการเสนอราคาก๊าซต่ำอยู่ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู ลดลงจากราคาขายในแหล่งบงกชปัจจุบันอยู่ที่ 214 บาท/ล้านบีทียู ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อเท็จจริงคือ การเสนอราคาก๊าซดังกล่าวเป็นการเสนอราคาประมูลขั้นต้น แต่ในสูตรราคาซื้อขายก๊าซที่แท้จริงยังจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ น้ำมันดูไบ เงินเฟ้อ เป็นต้น ดังนั้นราคาซื้อขายก๊าซจะเป็นราคาก๊าซขั้นต้นที่ได้จากการประมูลนำมาคำนวณรวมกับราคาอื่นๆ ด้วย จึงไม่ใช่แค่ 116 บาท/ล้านบีทียู แต่จะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับค่าการผันแปรในแต่ละปี

สำหรับการประเมินว่า ปตท.สผ.เสนอราคาประมูลต่ำเกินไป ในขณะที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงขึ้นนั้น ในข้อเท็จจริงคือ การลงทุนในทั้งสองแหล่งไม่ได้เป็นการเริ่มลงทุนใหม่ แต่ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว เหลือเพียงการลงทุนขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ปริมาณปิโตรเลียมตามสัญญา จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้สูงมากนัก

นอกจากนี้ เชื่อว่าบริษัท เชฟรอนฯ จะยังคงรักษากำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายก๊าซกับ ปตท.ไว้ เพราะตามสัญญากับภาครัฐต่อสัญญาสัมปทานไป 10 ปี จะต้องยืนแผนผลิตและผลประโยชน์ตอบแทนต่อภาครัฐ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นงวดทุกไตรมาสตลอดช่วง 10 ปี ฉะนั้นจะต้องรักษากำลังผลิตไว้ตามสัญญาแน่นอน

"การประมูลครั้งนี้มีการประเมินว่า ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐรวมเป็นมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปี อาจจะน้อยเกินไปนั้น อัตราดังกล่าวถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะการประมูลรอบนี้ เป็นไปตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ซึ่งต่างไปจากเดิมที่เป็นระบบสัมปทาน" นางเปรมฤทัย กล่าว

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้กรมจะส่งหนังสือไปถึงเชฟรอน เพื่อให้รับทราบผลการประมูลครั้งนี้ พร้อมกับเจรจาร่วมเลือกแท่นผลิตในแหล่งเอราวัณ ซึ่งจะต้องทำการรื้อถอนแท่นผลิตเพื่อส่งคืนเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งต้องตกลงว่าแท่นไหนจะป็นของรัฐ และแท่นไหนจะต้องรื้อถอนออกไปตามหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดไว้