posttoday

เปิดมาตรการรัฐบาลคสช.ช่วย"โชห่วย"สู้ธุรกิจร้านค้าปลีก

14 ธันวาคม 2561

รัฐบาลคสช.ไม่ทิ้งโชห่วย นายกฯเผยมาตรการหลายช่องทางช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการพัฒนาสามารถปรับตัวและแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

รัฐบาลคสช.ไม่ทิ้งโชห่วย นายกฯเผยมาตรการหลายช่องทางช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการพัฒนาสามารถปรับตัวและแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ทั่วประเทศไทย มีร้านค้าโชห่วยอยู่ประมาณ 370,000 ร้านค้า ซึ่งปัจจุบันหลายแห่ง ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในการทำมาค้าขาย ทั้งการเพิ่มขึ้นของร้านค้าสมัยใหม่ ต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งความสามารถทางการแข่งขันก็น้อยกว่า“ร้านค้าปลีกสมัยใหม่”ที่ดึงดูดลูกค้าและมีสินค้าที่ครบครันกว่า ทำให้ร้านค้าโชห่วยหลายแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุน รายได้ลดลงมาก ภาครัฐรับทราบปัญหาเหล่านี้ดีและก็ได้พยายามหาทางในการดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อให้ร้านโชห่วยเหล่านี้สามารถปรับตัวและแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ได้มีการดำเนินการผ่านหลายช่องทางนะครับ และหลากหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่...

1.โครงการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อจะช่วยปรับภาพลักษณ์ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” และ “ร้านโชห่วย” ให้มีการจัดร้านในรูปแบบ “5 ส” คือ สวย –สว่าง –สะอาด–สะดวก –สบายนะครับ และยังได้แนะนำให้ความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อให้สามารถปรับตัว, แข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่และดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น มีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้นในระยะยาว ทั้งหมดนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 4,500 ร้านค้า จากเป้าหมาย 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศนะครับ แต่ก็ยังมีเหลือีกมากนะครับ หากโครงการนี้ยังไปไม่ถึงพื้นที่ของท่าน ในระหว่างนี้ ขอแนะนำให้ลองปรับร้านค้าของท่านในรูปแบบ “5 ส” ในเบื้องต้นด้วยตนเองก่อน โดยเฉพาะความสะอาด สว่าง จัดวางของให้สวยงาม หยิบได้สะดวก ทั้งนี้ ร้านโชห่วยมีความได้เปรียบร้านค้าใหญ่ๆ ในเรื่องการแบ่งขาย ซึ่งหากทำให้สามารถเลือกซื้อได้สะดวก ดูสะอาดสะอ้าน ก็จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้

2.การนำโมเดล“โย๋ เล่อ” (Ule Model)ของจีนมาใช้ในการพัฒนาร้านค้าโดยเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับร้านค้าเล็กๆ ในชนบท มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ของจีน เปิดเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในร้านค้า ให้ร้านค้าในชนบทและทั่วประเทศเข้าไปจำหน่ายสินค้าขายแบบออนไลน์ นอกจากจะมีสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีสินค้าเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ หรือของดี - ของเด่นของชุมชน เช่น สินค้าหัตถกรรม OTOP ซึ่งในท้องถิ่นอื่น อาจไม่มีหรือหาได้ยาก โดยร้านโชห่วยที่เข้าร่วม ก็จะต้องสแกนรหัสสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ไปจนถึงผัก ผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปในระบบ ทำให้ในแพลตฟอร์มมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ผู้ซื้อในทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที ซึ่งร้านค้าที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปส่งให้ถึงที่ หรือหากอยู่ไกลจากแหล่งสินค้า ก็สามารถให้ไปรษณีย์จัดส่งสินค้าให้ได้ ทำให้ร้านโชห่วยกลายสภาพเป็นห้างใหญ่ในโลกดิจิทัล หรือเป็น “โชห่วย 4.0” ที่สามารถขายสินค้าทุกชนิดที่ต้องการขายได้ โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้จำนวนมาก ซึ่งโมเดลนี้ จะลองนำมาปรับใช้กับร้านโชห่วยของไทย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น โดยบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการให้บริการ “แพลต ฟอร์มโย๋เล่อ” นี้ จะส่งทีมมาให้คำแนะนำกับไทยในช่วงต้นปี 2562 นี้ด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น

และ3.โครงการโชห่วยออนไลน์ เป็นแนวคิดในการพัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง (หรือ Business to Business) ผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ มาทำเป็นแพลตฟอร์มในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านโชห่วยไปยังผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งการดำเนินการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. และภาคเอกชนผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน โดยในการดำเนินงาน บริษัทไปรษณีย์ไทยฯ จะพัฒนาช่องทางในการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการบริหารสต๊อก สินค้า และคำสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการบริหารจัดการด้านการขนส่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ผลิตสินค้าในเรื่องราคา และคัดเลือกร้านค้าโชห่วยที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าชุมชนเพื่อกระจายสินค้าผ่านร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วยนะครับ ในขณะที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนด้านสินเชื่อการค้า หรือสินเชื่อในการสั่งซื้อสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยที่เข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการนี้ จะทำให้ร้านค้าโชห่วย สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชน มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือนมกราคม 2562

โครงการของภาครัฐทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานแบบ “ประชารัฐ” คือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ร้านค้าโชห่วยสามารถปรับตัวในการทำธุรกิจและใช้จุดแข็งที่มีอยู่ ในการแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งการปรับตัวนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของร้านค้าก็จะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันนะครับ ช่วยตัวเองไปด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจให้ได้มากขึ้น รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ สร้างความพิเศษจากจุดแข็ง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ “จุดแข็ง” ของโชห่วย คือ สามารถแบ่งขายสินค้าได้ เช่น ข้าวสารหรือขนมปี๊บ

อีกทั้งยังมีลูกค้าประจำที่แวะเวียนมาสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั้งการให้ “เชื่อ” สินค้าไปก่อน เทียบกับการมีโปรโมชั่นต่างๆ ของร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหากเราพยายามทำจุดแข็งเราให้ดี ผมเชื่อว่าจะสามารถสร้างธุรกิจได้ดีขึ้น

ขอยกตัวอย่างร้านโชห่วยที่ปรับตัวทำธุรกิจได้ต่อเนื่องเช่น ร้านบิ๊กเต้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ที่พยายามหาข้อมูลว่าลูกค้าที่เป็นนักศึกษาชอบสินค้าอะไร หรือปัจจุบันมีสินค้าอะไรที่น่าสนใจ แล้วหามาขายในร้าน นอกจากนี้ ยังรับฝากสินค้า ที่มีฝีมือจากนักศึกษาเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีรายได้เสริม อีกทางหนึ่ง ก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน 2 ต่อก็ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าและสร้างลูกค้าประจำได้ หรือ “ร้านจีฉ่อย” แถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีเอกลักษณ์ว่ามีสินค้าทุกชนิด หากที่ร้านไม่มีแต่ลูกค้ามาถามหา ก็จะวิ่งไปซื้อหามาให้ทันที โดยบวกราคานิดหน่อย ก็มีส่วนดึงดูดนะครับ ให้ลูกค้ามาหาของที่ร้านนี้ก่อน อีกตัวอย่างก็คือ“ร้าน ล.เยาวราช” ที่ปรับปรุงใหม่ จากร้านที่มีสินค้าแน่นร้านแทบไม่มีทางเดิน ให้เป็นร้านโชห่วยที่สว่างไสว มีผนังสีทึบเพื่อให้สินค้าโดดเด่นออกมา

ที่สำคัญ ก็คือการเปิดสม่ำเสมอทุกวัน เปิดเป็นเวลาแน่นอน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมาซื้อหาของได้ รวมถึงความสะอาดของร้านด้วย ตัวอย่างเหล่านี้ อยากให้ได้เห็นเป็น “ข้อคิด” ในการการปรับตัว ภาครัฐพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการประสานงาน, การรวมกลุ่ม, การให้ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเราจะต้องก้าวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เรากลายเป็น “ประเทศไทย 4.0” ให้ได้ในที่สุด