posttoday

พลังงานโชว์แผนพีดีพีใหม่ หนุนรายย่อยผลิตไฟใช้เอง

13 ธันวาคม 2561

พีดีพีใหม่เน้นส่งเสริมรายเล็กผลิตไฟฟ้า สร้างสตาร์ทอัพเพิ่มเสถียรภาพพลังงาน คาดชง กพช.เคาะ 7 ม.ค. 2562 ย้ำค่าไฟฟ้าไม่แพง

พีดีพีใหม่เน้นส่งเสริมรายเล็กผลิตไฟฟ้า สร้างสตาร์ทอัพเพิ่มเสถียรภาพพลังงาน คาดชง กพช.เคาะ 7 ม.ค. 2562 ย้ำค่าไฟฟ้าไม่แพง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเปิดงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี เอเชีย 2018 ว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมเรื่องแนวทางการบริหารพลังงานที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี โดยเรื่องสำคัญที่กำลังดำเนินการคือการเดินหน้าทำประชาพิจารณ์เป็นรายภูมิภาคเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ซึ่งปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ในแผนจะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเพื่อติดหลังบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชน เพื่อให้เกิดผู้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้นวัตกรรมเข้ามากขึ้น หรือกลุ่มสตาร์ทอัพไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากที่สุด

“พีดีพีใหม่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น ขณะเดียวกันจะปรับกรอบการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ โดยค่าไฟฟ้าในอนาคตจะต้องไม่สูงไปกว่าแผนพีดีพีเก่าที่เคยกำหนดไว้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ หรือฟอสซิลจะสูงขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการประชุมแก้ไขการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (คอป 21) ที่มีเป้าหมายผลักดันการใช้พลังงานทดแทน” นายศิริ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า สาระสำคัญของพีดีพีฉบับใหม่จะเน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคประชาชนกับเชื้อเพลิงที่หลากหลายรูปแบบ โดยไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้สามารถขายเข้าระบบได้ในลักษณะไมโครกริด คาดจะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับฟังความคิดเห็นจะครบทุกภูมิภาคในสัปดาห์หน้า โดยจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเตรียมสรุปผลส่งให้ รมว.พลังงาน พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 7 ม.ค. 2562

นอกจากนี้ พีดีพีฉบับใหม่จะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในปลายแผนจากเดิมที่ 37% เป็น 53% เนื่องจากในแผนพีดีพีจะยังไม่มีการบรรจุถ่านหินเข้าไปในแผน จนกว่าการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) จะแล้วเสร็จ จึงจะมีการปรับแผนต่อไปในอนาคต ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำที่มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการในระยะแรกจะเริ่มต้นที่ 45 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ส่วนโรงไฟฟ้าขยะจะเพิ่มสัดส่วนอีก 400 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ เป็นต้น โดยยึดหลักการที่ค่าไฟฟ้าจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน