posttoday

เฮ็ดบอทปักธงอาเซียน รับเทรนด์แห่ใช้โรบอต

10 ธันวาคม 2561

การใช้แชตบอตหรือหุ่นยนต์สำหรับการโต้ตอบคำถามมนุษย์กำลังเติบโตอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรื่อง รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การใช้แชตบอตหรือหุ่นยนต์สำหรับการโต้ตอบคำถามมนุษย์กำลังเติบโตอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฮ็ดบอทจึงเห็นเล็งโอกาสการทำธุรกิจ เร่งปักธงธุรกิจแชตบอตตลาดรับเทรนด์ 2 ปี ธุรกิจแห่ใช้บริการเพื่อลดต้นทุนและบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ผู้ก่อตั้ง บริษัท เฮ็ดบอท ผู้ดำเนินธุรกิจแชตบอต เปิดเผยว่า แผนธุรกิจบริษัทจะเดินหน้าขยายธุรกิจแชตบอตในตลาดอาเซียน เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มใช้แชตบอตเป็นผู้ช่วยในการตอบโต้อัตโนมัติระหว่างลูกค้าแล้ว เพื่อให้บริการลูกค้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีนี้วางแผนจะเข้าไปทำตลาดเวียดนาม และโดยเฉพาะไต้หวัน ซึ่งบริษัทวางเป็นตลาดที่จะต่อยอดการขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ส่วนตลาดเมียนมา ลาว และกัมพูชา คงเป็นในอนาคต แต่ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจในอาเซียนจะนำแชตบอตมาให้บริการอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจัยที่บริษัทวางเป้าหมายบุกตลาดอาเซียน เนื่องจากคาแรกเตอร์ของโรบอตมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับความเป็นเอเชีย

“ปัจจัยที่ธุรกิจเริ่มใช้แชตบอตมีด้วยกัน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด 2.สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเทรนด์การใช้เมสเซนเจอร์เติบโตเพิ่มขึ้น 3.ช่วยลดต้นทุนการใช้แรงงานคน หรือคอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ยังบริการตอบคำถามได้ 24 ชั่วโมง 4.ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าโดยอัตโนมัติ หรือกลายเป็นดาต้าสำหรับองค์กร 5.เป็นบริการที่ช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า”

โกศล กล่าวว่า เป็นการสะท้อนว่าธุรกิจอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวีทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ยุค 4.0 แม้ว่าจะช้ากว่าไทย แต่ก็เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มโต้ตอบกับโรบอตผ่านแชตบอตแล้วในอาเซียน

เฮ็ดบอทปักธงอาเซียน รับเทรนด์แห่ใช้โรบอต

ในส่วนของตลาดในประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มคุ้นชินกับการพูดคุยกับโรบอต จากการที่องค์กรรายใหญ่ให้บริการ อาทิ เอไอเอส หรือกระทั่งสายการบินไทย ซึ่งจะคอยให้บริการตอบคำถามที่ไม่ซับซ้อน แต่ในกรณีที่ไม่สามารถตอบคำถามได้ก็ยังต้องมีพนักงานให้บริการ ขณะที่เทรนด์การใช้แชตบอตในประเทศไทยจะเริ่มขยับจากการใช้ข้อความมาสู่เสียง และล่าสุดขั้นของรูปภาพ ใบหน้า (Facial Recognition) ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในอนาคต เช่น ลูกค้าสามารถถ่ายรูปนาฬิกาแล้วนำมาใช้กับโรบอตจะค้นหาว่ามีนาฬิกาเรือนนั้นหรือไม่ และมีรายการสินค้าที่ใกล้เคียงกันไหม นอกจากนี้ ยังบอกอีกว่าจะต้องแต่งตัวแบบไหนถึงจะแมตชิ่งกับนาฬิกา พร้อมข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า

สำหรับเป้าหมายรายได้ของบริษัท จากการรุกขยายธุรกิจแชตบอตในตลาดอาเซียน ในปีหน้าจะมีรายได้ตลาดต่างประเทศมีสัดส่วน 50% จากก่อนหน้านี้มีรายได้ราว 20% และภายในประเทศ 50% โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ เพื่อพัฒนาแชตบอตเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายในประเทศไทย

เทรนด์แชตบอตจะถูกพัฒนาและนำมาใช้งานมากขึ้นในธุรกิจ เพราะแชตบอตไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ที่คอยตอบคำถามเท่านั้น แต่เป็นเหมือนเซลส์หรือนักขายที่ทั้งช่วยเสนอสินค้าที่เหมาะสมกับผู้ซื้อ แถมยังเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีในการกระจายข่าวสารต่างๆ นานาให้องค์กรและธุรกิจ นั่นคือเหตุผลง่ายๆ ที่ทำให้ธุรกิจแห่ใช้แชตบอตทั่วอาเซียนแน่นอน