posttoday

ชงพีดีพีเดือนธ.ค.ดันถ่านหินภาคใต้

07 ธันวาคม 2561

พลังงานเดินสายเปิดประชาพิจารณ์ แผนพีดีพีก่อนเสนอ กพช.เดือน ธ.ค.นี้  จับตาถ่านหินภาคใต้ เปิด กฟผ.-ไอพีพีแข่ง 1,000 เมกะวัตต์

พลังงานเดินสายเปิดประชาพิจารณ์ แผนพีดีพีก่อนเสนอ กพช.เดือน ธ.ค.นี้  จับตาถ่านหินภาคใต้ เปิด กฟผ.-ไอพีพีแข่ง 1,000 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2018) ที่จะใช้ในปี 2561-2580 ทั่วทุกภูมิภาค ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน ธ.ค.นี้ หรือต้นเดือน ม.ค. 2562 โดยสาระสำคัญได้สรุปค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกินแผนเดิมที่อยู่ราว 5.55 บาท/หน่วย เมื่อสิ้นสุดปลายแผน

นอกจากนี้ ยังกำหนดการทำสัญญาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบช่วงปี 2568-2569 จะมีไฟฟ้าพอดีกับความต้องการใช้ แต่ในปีต่อไปกำลังการผลิตจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยปี 2570 กำลังผลิตจะต่ำกว่าต้องการใช้ 5,100 เมกะวัตต์ ปี 2580 กำลังการผลิตจะต่ำกว่าความต้องการ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์

ทั้งนี้ จำเป็นต้องจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมอีกกว่า 5.14 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2.07 หมื่นเมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ภาคประชาชน 1 หมื่น เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือผู้ผลิตไฟเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 1.31 หมื่นเมกะวัตต์

ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักที่แข่งขันระหว่าง กฟผ.กับไอพีพีจะเข้าระบบ จำนวน 8,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,740 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 1,105 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของ กฟผ. 500 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจาก ต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ได้จัดสรรแบ่งเป็นรายภาค โดยภาคใต้กำหนดให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2570 และปี 2572 ส่วนในปี 2577 จะเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่เปิดให้ กฟผ.และไอพีพีแข่งขัน 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นถ่านหิน แต่ต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) จะสรุปว่าภาคใต้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่

ภาพประกอบข่าว