posttoday

สร้าง'เบญจมาศ' สายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย นวัตกรรมทำเงิน

06 ธันวาคม 2561

“เบญจมาศ” หนึ่งในไม้ตัดดอกสำคัญของมูลนิธิโครงการหลวง และมีการปลูกจำนวนมากที่ โครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

“เบญจมาศ” หนึ่งในไม้ตัดดอกสำคัญของมูลนิธิโครงการหลวง และมีการปลูกจำนวนมากที่ โครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่หลักในการปลูกของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเรื่อง สายพันธุ์ และการปลูกแบบเดิม ส่งผลทำให้ราคาลดลง รวมถึงในหลายพื้นที่ของไทยก็ลดการปลูกเช่นกัน ขณะที่ในตลาดโลก ดอกเบญจมาศเป็นไม้ตัดดอกที่มีความต้องการสูง มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกปีละหลายพันล้านบาท จึงมีหน่วยงาน “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)” ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการพัฒนา “เบญจมาศสายพันธุ์ใหม่” เพื่อร่วมขยายการส่งออกจากการปลูกในไทยสู่ตลาดโลก

สร้าง'เบญจมาศ' สายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย นวัตกรรมทำเงิน

“อนันต์ บุญมี” ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดอกเบญจมาศมีการปลูกจำนวนมากในพื้นที่โครงการหลวงขุนวางประมาณ 100 ไร่ ส่วนไม้ตัดดอกที่ปลูกอันดับหนึ่งในพื้นที่จะเป็น กุหลาบ รองลงมา เบญจมาศ และอันดับสาม ไฮเดรนเยีย โดยที่ผ่านมาปัญหาของการปลูกเบญจมาศคือ การปลูกสายพันธุ์แบบเดิมและได้ราคาลดลง จำเป็นต้องพัฒนาส่งเสริมการปลูกสายพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกร

“ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ” นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า การทำวิจัยได้พัฒนากระบวนการกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของเบญจมาศ ทั้งที่มีอยู่แล้ว และเป็นการเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์

นักวิจัยได้ปรับปรุงพันธุ์มาทดสอบปลูกเลี้ยงจำนวน 30 สายพันธุ์ มาปลูกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง พร้อมเก็บข้อมูลการเติบโต ความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งประเมินศักยภาพสายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์เบญจมาศ จำนวน 5 สายพันธุ์ ที่ผ่านการประเมินและได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าไม้ดอก และได้สายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคอีก 1 สายพันธุ์

สำหรับ 5 สายพันธุ์ใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ค้าไม้ดอก ทั้งสีสัน เฉดสีดอก การเรียงตัวของดอก ความสวยงามทำให้ได้ดอกเบญจมาศของประเทศไทยที่พัฒนาขึ้นได้เอง เนื่องจากปัญหาหนึ่งของเกษตรกรคือ ความไม่ถูกต้องของลิขสิทธิ์สายพันธุ์จากต่างประเทศ จึงส่งออกไปต่างประเทศได้น้อย

สร้าง'เบญจมาศ' สายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย นวัตกรรมทำเงิน

“การนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดจึงได้สายพันธุ์ของประเทศไทย ได้สีแบบใหม่ ทำให้เกษตรกรไทยขยายการส่งออกไปสู่ต่างประเทศ เพราะมีความต้องการสูงในตลาดโลก จากที่ผ่านมาการส่งออกไม้ตัดดอกของประเทศไทยมีมูลค่า 3,800 ล้านบาท มีสัดส่วน 90% เป็นดอกกล้วยไม้ การส่งออกเบญจมาศไม่ถึง 1% ประเทศหลักในโลกที่ส่งออกเบญจมาศคือ ญี่ปุ่น” ดร.อนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งเสริมเกษตรกรปลูกเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ได้ในปี 2561 และส่งเสริมการปลูกเลี้ยงในกระถาง เพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้ราคาของดอกเบญจมาศเพิ่มขึ้น สามารถสร้างพืชเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย คาดว่าระยะยาวไทยมีโอกาสเป็นประเทศหลักในการส่งออกในตลาดโลกได้

“ดร.อนันต์” กล่าวต่อว่า การพัฒนาครั้งนี้เป็นโครงการบูรณาการวิจัย ร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สภาดอกไม้แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

ในระยะยาวจะขยายพัฒนางานวิจัย เพื่อสร้างดอกเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ ที่สวยงาม ตรงกับความต้องการของตลาดได้ต่อเนื่อง