posttoday

ทอท.เล็งเปิดประมูลจัดซื้อรถเข็นกระเป๋า 2,500 คันแก้ขาดแคลน

04 ธันวาคม 2561

ทอท.เล็งเปิดประมูลจัดซื้อรถเข็นกระเป๋า 2,500 คันแก้ปัญหาขาดแคลนหลังผู้โดยสารโตก้าวกระโดด แจงแผนเตรียมพร้อมรับเดินทางปีใหม่คาดผู้โดยสารโต10%

ทอท.เล็งเปิดประมูลจัดซื้อรถเข็นกระเป๋า 2,500 คันแก้ปัญหาขาดแคลนหลังผู้โดยสารโตก้าวกระโดด แจงแผนเตรียมพร้อมรับเดินทางปีใหม่คาดผู้โดยสารโต10%

นายสัมพันธ์ ขุทรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องรถเข็นกระเป๋าไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่มีเที่ยวบินจำนวนมาก(Peak hour)นั้ยยอมรับว่าเป็นความจริงดังนั้นทอท.จึงเตรียมแผนแก้ปัญหาสองแนวทางคือระยะเร่งด่วนนั้นจะเพิ่มปริมาณรถเข็นอีก 10%จำนวน 215 คันและเพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่หมุนเวียนรถเข็นอีก10% ภายในวันที่ 25 ธ.ค.นี้เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว ส่วนด้านระยะยาวนั้นทอท.มีแผนจัดซื้อรถเข็นเพิ่ม 2,500 คันวงเงิน 60-70 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 2562 และรับมอบในปี 2563 ต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับงานบริหารรถเข็นสนามบินดอนเมืองนั้นทอท..ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท นำไกรยูนิเวอร์แซล กรุ๊ป จำกัด ให้บริการรถเข็นกระเป๋าแบบครบวงจร เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2566 โดยในสัญญาระบุว่า ในปีที่ 3 หรือปี 2561 คู่สัญญาต้องจัดหารถเข็นกระเป๋าให้บริการทั้งสิ้น จำนวน 2,900 คันโดยแบ่งเป็น รถเข็นกระเป๋าขนาดเล็ก จำนวน 600 คัน รถเข็นกระเป๋า ขนาดกลาง จำนวน2,285 คัน และรถเข็นกระเป๋าขนาดใหญ่ จำนวน 15 คัน

นายสัมพันธ์กล่าวต่อว่าปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในช่วงชั่วโมงพีคตั้งแต่ 17.00 น. – 20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารมากที่สุด พบว่ามีเที่ยวบินขาเข้าระหว่างประเทศจำนวน 19 เที่ยวบิน ผู้โดยสารประมาณ 4,600 คน และเที่ยวบินขาเข้าภายในประเทศ จำนวน144 เที่ยวบิน ผู้โดยสารประมาณ14,000 คน

นอกจากนี้พฤติกรรมของผู้ใช้ยังเปลี่ยนไปจากกรณีกรุ๊ปทัวร์ที่มาส่งนักท่องเที่ยวก่อนตารางบิน 4-5 ชั่วโมงทำให้ระยะเวลาการถือครองรถเข็นเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 2-3 ชม. ส่วนด้านประเด็นเรื่องแผนการจัดซื้อที่จัดทำมาไม่สอดรับและเพียงพอต่อดีมานต์นั้นขอชี้แจงว่าโครงการจัดซื้อนี้ร่างทีโออาร์มาตั้งแต่ปี 2555ขณะนั้นสนามบินดอนมืองมีผู้โดยสาร 2 ล้านคนแตกต่างจากตอนนี้ที่มีผู้โดยสารปีละ 40 ล้านคน ถือว่าตัวเลขก้าวกระโดดอย่างมาก โดยในปี 2556 มีผู้โดยสารที่มาใช้บริการจำนวนประมาณ 15 ล้านคน ต่อมาในปี2558 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ28 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาถึงปี 2561 เป็นจำนวน 40.5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าอัตราการเพิ่มของจำนวนรถเข็นกระเป๋าในแต่ละปีตามสัญญา ที่กำหนดให้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% ทำให้จำนวนรถเข็นกระเป๋าตามสัญญาไม่เพียงพอต่อการให้บริการ

นายสัมพันธ์กล่าวต่อว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้สนามบินดอนเมืองได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนโดยคาดว่าจะมีตัวเลขผู้ใช้สนามบินเติบโตจากปีก่อน 10% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย100,000 คน/วัน ดังนั้นจึงได้มีการเตรียมความพร้งมทั้งการตั้งจุดบริการประชาชนและจุดประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ไว้ต้อนรับ รวมถึงเรื่องของความพร้อมบุคลากรด้านสนามบินเพื่อส่งทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัยนอกจากนี้ยังสั่งการให้ดูแลเรื่องห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(กอญ. บวท.) กล่าวว่า จากปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของท่าอากาศยานดอนเมือง ที่รองรับเฉลี่ย 787 เที่ยวบินต่อวันและสุวรรณภูมิ ซึ่งรองรับ 998เที่ยวบินต่อวัน หรือรวมประมาณ1,800 เที่ยวบินต่อวัน ทำให้ บวท.จำเป็นต้องมีการทบทวนปรับปรุงเส้นทางบินเข้า-ออก ทั้งสองสนามบินเพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจราจรทางอากาศ

นายสมนึกกล่าวต่อว่า เส้นทางบินมาตรฐานสำหรับเข้า-ออก (RNAV SIDs/STARs) ที่ใช้อยู่เดิมเป็นเส้นทางที่ใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 31มีนาคม 2559 ซึ่งรองรับปริมาณเที่ยวบินรวมของทั้งสองสนามบิน1,600 เที่ยวบินต่อวัน โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บวท. ได้ทำการติดตามวิเคราะห์ และประเมินผลประสิทธิภาพการใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทั้งจากนักบินและเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ พบว่าเส้นทางบินเดิมยังมีข้อจำกัด เช่น บางจุดมีปริมาณจราจรกระจุกตัวหนาแน่นเกินไป และบางจุดเป็นพื้นที่คอขวด ซึ่งส่งผลต่อความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ ในขณะที่ปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี จึงต้องทำการปรับปรุงเส้นทางบินดังกล่าว

การปรับปรุงเส้นทางบินในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงเพียงบางส่วน(Minor Change) เท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวของจราจรทางอากาศมากยิ่งขึ้น ลดการล่าช้าของเที่ยวบิน และรองรับปริมาณเที่ยวบินได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ทั้งนี้ บวท. ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ ซึ่ง บวท. ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับไว้แล้ว ทั้งในเรื่องบุคคลากร วิธีปฏิบัติ การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การส่งข้อมูลและการประกาศใช้เส้นทางบินให้กับสายการบิน และหน่วยบินต่างๆตลอดจนการเตรียมความพร้อมในด้านระบบอุปกรณ์และแผนฉุกเฉินด้วย