posttoday

กสทช.ตั้งเป้าปี62ดัน5จี-ทบทวนประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่

03 ธันวาคม 2561

กสทช.ตั้งเป้าปี 62 ผลักดัน 5G เตรียมทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่ พร้อมแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลระยะยาว

กสทช.ตั้งเป้าปี 62 ผลักดัน 5G เตรียมทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่ พร้อมแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลระยะยาว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ประกาศทิศทางและนโยบายการดำเนินงานปี 62 เมื่อวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค.61 ได้มอบหมายนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสำนักงาน กสทช. พร้อมผลักดัน 5 เป้าหมายให้เกิดขึ้นจริง ได้แก่

1. สนับสนุสนโยบายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G เร็วที่สุดโดยจะดำเนินการทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ (Set Zero โทรคมนาคม) ที่สะท้อนความต้องกาคลื่นความถี่ที่สมเหตุสมผล เหมาะสมกับบริบทอุตสาหกรรมและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และทบทวนเงื่อนไขและระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ (Term of payment) ของคลื่นที่ประมูลไปแล้ว และที่จะนำมาประมูลใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบโครงข่ายและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะเดียวกันจะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5G ใหม่เพิ่มติมให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่นในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G

ทั้งนี้ กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (Mulitband) ในการต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ (MHz) , 2.6 กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ (GHz), 3.5 GHz, 28 GHz และดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดลอง ทดสอบ 5G ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีดังกล่าว

รวมทั้งการเรียกคืนคลื่นความถี่ ตามประกาศซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการตามประกาศดังกล่าวฯ และจะตั้งคณะทำงานดำเนินการตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่เดือน ธ.ค.61 โดยมีเป้าหมายในการเรียกคืนคลืนความถี่ย่าน 2.6 GHz เป็นลำดับแรก

2.แก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว โดยการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz โดยจะเยียวกับผู้ได้รับผลกระทบ โดยเยียวยากลับคลืนทั้งผู้ให้บริการทีวีดิจทัลและผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) ทั้งนี้การประมูลจะมีการประมูลล่วงหน้าก่อนที่จะสิ้นสุดระยะเวลาในใบอนุญาต,สนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ขึ้นจากประกาศมัสแครี่ (Must Carry) โดยเฉพาะภาระที่เกิดจากมัสแครี่ โดยสำนักงานฯ เห็นว่าควรให้มีการสนับสนุนการออกอากาศไปจนถึงปี 65 , สนับสนุนค่าใช่จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โดยจะสนับสนุนผู้ประกอบการไปจนถึงปี 65 และสนับสนุนการสำรวจความนิยม (Rating) โดยสนับสนุนการประเมินเรทติ้งใหม่เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการสำรวจความนิยม

3. จัดทำแผนและหลักเกณฑ์การอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเพื่อรองรับมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ. ศ. 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า" รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน" ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ. ศ. .... ที่จะกำหนดให้กสทช. เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลเกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียมทั้งหมด

4. เร่งรัดและร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือสตช. ในการนำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว (National Single Emergency Number) ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุขึ้นเจ้าหน้าที่จะสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้งและสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศทำให้สามารถระงับและจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและทันเหตุการณ์ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. เร่งรัดสนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอาทิสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติกรมทรัพย์สินทางปัญญากระกทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกระทรวงดีอีในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

นายฐากร การทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่ กสทช.จะมีการกำหนดทิศทางให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น คาดจะสามารถสรุปโดยเร็วในเดือน ม.ค.62 เพื่อประเมินคลื่นอื่นและการนำคลื่นมาประมูลพร้อมกันได้หรือไม่ เช่น อาจจะนำ 1800 MHz ไปประมูลรวมกับคลื่นอื่นในการประมูลครั้งเดียว เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G ซึ่งจะทำให้ภาคโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลเดินหน้าไปได้

"การเปิดประมูลคลื่นความถี่แบบ Multiband มองว่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz, 2600 MHz และ 1800 MHz สามารถนำมาประมูลพร้อมกันได้ทันที โดยคลื่นความถี่ 1800 MHz ขณะนี้เหลืออยู่ 7 ใบอนุญาต และคลื่นความถี่ 2600 MHz ขณะนี้ อสมท.ถือครองคลื่นไว้อยู่ 140 MHz และกรมประชาสัมพันธ์ถือครองคลื่นอยู่ที่ 40 MHz โดยกสทช.อยู่ระหว่างศึกษาและหาข้อสรุปในการเรียกคืนคลื่นดังกล่าว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้"นายฐากร กล่าว

กสทช.ยอมรับว่าการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อปี 56 ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ธุรกิจที่ล้าหลัง สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจทีวีดิจิทัลเกิดปัญหาขาดทุนส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาวะเศรษฐกิจ ราคาประมูลที่ค่อนข้างสูง และเมื่อเกิดปัญหาการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาวิกฤตทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้ การเร่งรัดปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จะทำให้มีเม็ดเงินมาช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) หากเทคโนโลยี 5G ให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้วยังไม่มีการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลก็จะทำให้เกิดปัญหากับอุตสาหกรรมทีวีที่หนักกว่าเดิม เนื่องจากโครงข่ายสื่อสารมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การที่ กสทช.จะนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิตรซ์มาประมูลจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้

ส่วนในเรื่องของ Term of payment ของผู้ได้รับอนุญาตคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลไปแล้วนั้น กสทช.ก็จะดำเนินการประเมิน โดยเฉพาะคลื่น 900 MHz ที่มีวงเงินการประมูลสูงมาก เป็นต้น โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเปิดประชาพิจารณ์ต่อสาธารณะให้ชัดเจนโดยเร็วว่าการปรับเงื่อนไขการชำระเงินจะทำให้รัฐจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไร พร้อมกันนี้จะนำเรื่องเสนอต่อที่ปรึกษากฎหมายอีกครั้งหนึ่งว่ากสทช.สามารถดำเนินการได้เองหรือไม่ หรืออาจจะต้องขออำนาจจากรัฐบาลในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

"อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เราต้องเดินหน้าให้เร็ว ซึ่งที่ผ่านมา 3G เราก็ช้ามาแล้ว 4G เราก็ช้า และ 5G ที่จะเกิดขึ้นอย่าให้ช้ากว่าประเทศอื่นเขาเลย"นายฐากร กล่าว

สำหรับการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลในระยะยาว ซึ่งทีวีดิจิทัล ยังมีวงเงินที่จะต้องชำระเหลืออีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นั้นทาง กสทช.อยู่ระหว่างรอดูการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่จะมีขึ้นในปี 62 ว่าจะออกมาอย่างไร เนื่องด้วยอาจจะมีการพิจารณายกเว้นการชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในส่วนที่เหลือจะทำได้หรือไม่ เพื่อเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ

ขณะที่ค่า MUX ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 MUX รองรับการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 48 ช่อง ก็จะต้องปรับลดลงให้เหลือ 4 MUX โดยจะลดในส่วนของช่องกองทัพบก เพื่อให้เป็นไปตามจำนวนช่องทีวีดิทัลที่มีอยู่ปัจจุบัน 27 ช่อง อย่างไรก็ตามการเยียวยาทีวีดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบ จะนำเงินในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ไปเยียวยา ส่วนที่เหลือจะนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ