posttoday

อึ้ง!สภาพัฒน์เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ4,000คนส่วนใหญ่ซึมเศร้า

29 พฤศจิกายน 2561

สภาพัฒน์เปิดข้อมูล คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 50,000 คนต่อปี สำเร็จปีละ 4,000 คนส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้า พบในกลุ่มคนสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาสุขภาพ ว้าเหว่ไม่มีคนดูแล

สภาพัฒน์เปิดข้อมูล คนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 50,000 คนต่อปี สำเร็จปีละ 4,000 คนส่วนใหญ่มาจากโรคซึมเศร้า พบในกลุ่มคนสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาสุขภาพ ว้าเหว่ไม่มีคนดูแล

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยในการรายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2561 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่า ขณะนี้การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งสมาคมการป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ก.ย. ของทุกปีเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ทุกๆ ปีจะมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 800,000 คน เฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 40 วินาทีโดย 78% เกิดในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตลง10% ภายในปีพ.ศ. 2563

นายทศพร กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่พบว่ามีคนที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากและมีมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงกว่า 10 เท่าตัว โดยกรมสุขภาพจิตได้ประมาณการในแต่ละปีมีผู้พยายามฆ่าตัวตายประมาณ 50,000 กว่าคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คนทำร้ายตนเอง

ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุขได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในปี 2548 พบว่า มูลค่าที่ประเทศสูญเสียจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 16,000 ล้านบาท ซึ่งจากสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คนต่อปีทำให้ประเทศต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจในการรักษาผู้พยายามฆ่าตัวตายปีละกว่า 400 ล้านบาท

นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบทางสังคมด้านอื่นๆ เช่น กระทบต่อความมั่นคง และปลอดภัยในจิตใจโดยเฉพาะคนใกล้ชิด ที่ยากต่อการประเมินความสูญเสียออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้

อึ้ง!สภาพัฒน์เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ4,000คนส่วนใหญ่ซึมเศร้า

นอกจากนี้ การฆ่าตัวตายพบมากสุดในกลุ่มวัยแรงงาน จากข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติของกรมสุขภาพจิตได้รวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยจากใบมรณบัตรพบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000 รายต่อปี โดยในปี 2560 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,934 คน อัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 6.03 คน ต่อประชากรแสนคน โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4.4 เท่า พบการฆ่า ตัวตายมากสุดในกลุ่มวัยแรงงานคือ อายุ 40–49 ปี จำนวน 858 คน อายุ 30–39 ปี จำนวน 835 คน อายุ 50–59 ปีจำนวน 725 คน

ส่วนการฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 801 คน โดยแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการฆ่าตัวตาย 562 คนในปี 2554 สาเหตุสำคัญคือ ผู้สูงอายุมีโรคภัยไข้เจ็บ เกิดความรู้สึกเหงาและว้าเหว่ วิตกกังวลว่าจะไม่มีคนดูแลยามเจ็บป่วย ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง รวมทั้งการขาดความมั่นคงด้านรายได้

ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบผู้สูงอายุอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 3.6% ในปี 2537 เป็น 10.8% ในปี 2560 โดยเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และไม่มีผู้ดูแลปรนนิบัติถึง 88.9% สาเหตุของการฆ่าตัวตายอาจจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด สาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มักจะเกิดจากปัญหาที่ทับซ้อนสะสมและหาทางออกไม่ได้ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดครอบครัวมีปัญหา ปัญหาการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังทางกาย และขาดคนดูแลโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยแรงงานทำให้มีความเครียดสะสมและกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ทั้งนี้ประมาณ 50% ของการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หรือ 4% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.4% ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าผู้สูงอายุ ส าหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรค ซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน หรือ 2.5% ของประชากรไทยและผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า ผู้ชายถึง 1.7 เท่า จะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณวันละ 10-12 คน เฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด

อึ้ง!สภาพัฒน์เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ4,000คนส่วนใหญ่ซึมเศร้า

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายต้องเริ่มจากครอบครัวเพราะอยู่ใกล้ปัญหาที่สุดความอบอุ่นในครอบครัวจะสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตายได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น บุคคลในครอบครัวต้องให้ความร่วมมือในการสร้างความรักและความเข้าใจเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันให้ครอบครัวสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ขณะที่สังคมและประชาชนต้องร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยการสังเกตสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม หรือจากสัญญาณเตือนจากการโพสต์ลงในโซเซียล ถ้าเพื่อน ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด พบเห็นการโพสต์ข้อความเหล่านี้ ได้แก่ การโพสต์ข้อความสั่งเสีย เช่น ขอโทษ ลาก่อน หรือ โพสต์ว่าไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว เป็นต้น ต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือดูแล หรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ หากยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 6.0 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2564 โดยได้จัดบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพจิตผ่านทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง และพัฒนาแอปพลิเคชั่น Mental health Check Up 6 Packages10 และ “สบายใจ” 11 เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุก ให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่ายได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ

ส่วนแนวทางในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ โดย (1) จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันชูสุข 5 มิติ12 คือ สุขสนุก สุขสบาย สุขสง่า สุขสงบ และสุขสว่าง (2) ฝึกอบรมให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็น อสม. เชี่ยวชาญสุขภาพจิตชุมชน โดยให้ อสม. 1 คน ดูแล 10 หลังคาเรือน ไปเยี่ยมบ้าน แนะวิธีเสริมสร้างพลังใจ และ (3) ให้ความรู้ในการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยสูงอายุที่ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เมื่อมารักษาตัวที่คลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ คนรอบข้างผู้สูงอายุต้องสังเกต ใส่ใจ และไม่ทอดทิ้ง

อึ้ง!สภาพัฒน์เผยคนไทยฆ่าตัวตายปีละ4,000คนส่วนใหญ่ซึมเศร้า