posttoday

4 เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ปีทองค้าออนไลน์

29 พฤศจิกายน 2561

ไพรซ์ซ่า เผย สถานการณ์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในปี 2562 คาดว่าจะยังเติบโต 20-30% มูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ปัจจุบันคนไทยใช้โมบายอินเทอร์เน็ต สูงที่สุดในโลกเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมง/วัน ผ่านกิจกรรมหลักในการใช้โซเชียลมีเดีย ค้นหาข้อมูล อีเมล บันเทิงและช็อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งทุกกิจกรรมจะมีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในปี 2562 คาดว่าจะยังเติบโต 20-30% มูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท จากปัจจัยบวกของการเติบโตในช่องทางฟินเทคและอี-เพย์เมนต์ต่างๆ  รวมถึงแคมเปญโปรโมชั่นของผู้เล่นในตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยม และมั่นใจการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้ 4 เทรนด์หลักที่เกิดขึ้นใน ปีหน้า ได้แก่ 1.ทุกๆ แพลตฟอร์มจะมุ่งสู่การค้าออนไลน์เปิดบริการที่สนับสนุนอี-คอมเมิร์ซ เพื่อสนับสนุนผู้บริโภคให้อยู่ในแพลตฟอร์มนานขึ้น เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ไลน์ เคแบงก์ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล

2.ความท้าทายและโอกาสบน อี-มาร์เก็ตเพลสที่จะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันจำนวนสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในไทยมีสินค้ามากกว่า 75 ล้านรายการ ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็นสินค้าจากต่างประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 ล้านรายการ ภายในปีหน้า

3.การจ่ายเงินชำระสินค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตแบบก้าวกระโดด จากต้นทุนการชำระเงินที่ต่ำกว่าเงินสดถึง 4 เท่า หลังแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการอี-คอมเมิร์ซในไทย พยายามเปิด อี-วอลเล็ต เช่น ลาซาด้า ทรู ช็อปปิ้ง ไลน์ โดยในปีหน้าทุกๆ  แพลตฟอร์มจะกระตุ้นให้เกิดการจ่ายเงินผ่านช่องทางนี้ ผ่านกลยุทธ์การ กระตุ้นต่างๆ ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่องทางการชำระเงิน

เทรนด์ 4.การค้าหลากหลายช่องทาง หรือออมนิแชนแนล จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่สำคัญ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อของได้ในหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ โซเชียล มาร์เก็ตเพลส และหน้าร้าน ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น

"ผู้ประกอบการจะต้องขยาย การค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย รวมถึงต้องสร้างฐานข้อมูลของลูกค้าใน ทุกๆ ช่องทางเพื่อต่อยอดบริการ" ธนาวัฒน์ กล่าว

ขณะที่แผนธุรกิจในปี 2562 ของไพรซ์ซ่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา โดยปัจจุบันให้บริการ 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยยังเป็นตลาดหลักมีผู้ใช้มากกว่า 14 ล้านคน มีสินค้ามากกว่า 51 ล้านรายการ มีจำนวนผู้ใช้บริการเข้าค้นหาสินค้า ที่มีกว่า 51 ล้านรายการ มากถึง 110 ล้านครั้ง

พร้อมกันนี้ จะเดินหน้าธุรกิจ ไพรซ์ซ่า มันนี่ ช่องทางการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้รับความนิยมและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากแพลตฟอร์มนี้ถึง 3 เท่าตัว

นอกจากนี้ เพื่อตอบรับเทรนด์ อี-คอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้น ไพรซ์ซ่า เตรียมนำบิ๊กดาต้า พัฒนาแพลตฟอร์มไพรซ์ซ่าช็อปปิ้งพาร์ตเนอร์เน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสแรก ปีหน้า โดยจะจับมือกับพันธมิตรร่วมดำเนินธุรกิจ เพื่อนำเสนอขายสินค้าได้มากขึ้น

ธนาวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากสถานการณ์ยอดซื้อบนช่องทางอี-คอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,469 บาท/ตะกร้า โดยไพรซ์ซ่ามีส่วนช่วยกระตุ้นการซื้อขายผ่านช่องทางนี้กว่า 2,000 ล้านบาท