posttoday

เอไอในดนตรีกาล (1)

29 พฤศจิกายน 2561

เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในงานประชุมวิชาการ The International Joint Symposium on Artificial Intelligence and Natural Language Processing 2018

เรื่อง...ดร.ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในงานประชุมวิชาการ The International Joint Symposium on Artificial Intelligence and Natural Language Processing 2018 ซึ่งในปีนี้ผู้จัดงานได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอในสาขาต่างๆ มากล่าวปาฐกถาเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านงานวิจัยทางเอไอ หนึ่งในนั้นคือปาฐกถาเรื่อง “Music and AI” โดย Prof. Satoshi Tojo จากมหาวิทยาลัย Japan Advanced Institute of Science and Technology (JAIST) ซึ่งในสัปดาห์นี้ผู้เขียนจะขอนำเรื่องราวบางส่วนจากในปาฐกถาดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังครับ

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่า อะไรทำให้ท่านรู้สึกว่าบทเพลงนี้ไพเราะ แต่บทเพลงนี้กลับไม่ไพเราะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “อะไรคือความไพเราะของดนตรี” ทฤษฎีดนตรีกล่าวไว้ว่า องค์ประกอบพื้นฐานของดนตรีมี 7 สิ่ง ได้แก่ เสียง (Tone) จังหวะ (Rhythm) ทำนอง (Melody) เสียงประสาน (Harmony) พื้นผิวทำนอง (Texture) สีสันของเสียง (Tone Color) และคีตลักษณ์ (Form) บทเพลงที่จะมีความไพเราะได้จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง 7 ที่เหมาะสมลงตัว แต่ความเหมาะสมลงตัวที่ว่านั้นคืออะไร

เอไอในดนตรีกาล (1)

Prof. Tojo เล่าให้ฟังว่า หากเราสืบย้อนในประวัติศาสตร์โลกตะวันตก วัฒนธรรมกรีกโบราณมิได้แบ่งแยกภาษาและดนตรีออกจากกันอย่างชัดเจน หากมีวิวัฒนาการมาจากสิ่งเดียวกัน คือ ดนตรีปฐมกาล ในมุมหนึ่งดนตรีปฐมกาลได้วิวัฒนาการเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งมีระเบียบแบบแผนในการแต่งที่เรียกว่า “ฉันทลักษณ์” แต่ในอีกมุมหนึ่งดนตรีปฐมกาลก็ได้วิวัฒนาการเป็นดนตรีในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็มีรูปแบบที่แน่นอนในการแต่งเพลงเช่นกัน

ความแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้คือ ร้อยแก้วและร้อยกรองมีหน้าที่นำสารที่มีความหมาย อารมณ์ และความรู้สึก จากผู้พูดไปหาผู้ฟัง ในขณะที่ดนตรีนั้นถูกใช้เป็นสื่อนำอารมณ์และความรู้สึกจากผู้เล่นไปสู่ผู้ฟัง นี่แสดงให้เห็นว่าทั้งภาษาและดนตรีต่างเคยมีระเบียบแบบแผนร่วมกันมาก่อนทั้งสิ้น

อันที่จริงดนตรีในธรรมชาติก็มีระเบียบแบบแผน ตัวอย่างเช่น ในฤดูสืบพันธุ์ นกกินแมลงญี่ปุ่น ตัวผู้จะร้องเพลงจีบสาวด้วยทำนอง “พี-จี-จุ” ในภาพที่ 1 โดยถ้ายิ่งร้องเพลงตั้งแต่ต้นเพลง (เครื่องหมายสามเหลี่ยมสีแดง) ให้ไปจนจบท่อน (เครื่องหมายวงกลมสีเขียว) และวนซ้ำไปเรื่อยๆ ยิ่งบทเพลงยาวได้เท่าไรก็ยิ่งมีเสน่ห์ดึงดูดใจนกตัวเมียมากขึ้น เช่น “พี-จี-พี-จี-จุ / พี-พี-พี-จี-พี-จี-พี-พี-จี-พี-จี-จุ / พี-พี-พี-พี-จี-พี-จี-พี-จี-จุ” เป็นต้น

ภาพที่ 1 ทำนอง “พี-จี-จุ” ของนกกินแมลงญี่ปุ่น

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ดนตรีกับภาษาต่างก็มีระเบียบแบบแผนด้วยกันทั้งสิ้น คราวหน้าเราจะไปหาคำตอบกันว่า แล้วหุ่นยนต์จะแต่งเพลงเหมือนมนุษย์ได้อย่างไร และมีโอกาสไหมที่นักแต่งเพลงจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ครับ