posttoday

ยีนส์ฝ่ายอดซื้อจีนหด 'ลี'หันโกยรายได้ภูธร

28 พฤศจิกายน 2561

บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้งฯ ชี้นักท่องเที่ยวจีนวูบ กระทบตลาดยีนส์ โตลดลงจาก 5% เหลือ 3% เหตุยอดขาย 40% มาจากกลุ่มคนจีนซื้อกลับไปฝากญาติ

โดย... จะเรียม สำรวจ

ธุรกิจยีนส์ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่โดนผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งปรับตัวลดลง เนื่องจากยีนส์ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความนิยมซื้อกลับไป เพราะคุณภาพสินค้ายีนส์ของไทยดีกว่าและราคาถูกกว่า จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนอดใจไม่ไหวที่จะซื้อสินค้าดังกล่าวกลับไป เมื่อมีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย

นันทวรรณ สุวรรณเดช ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป หรือซีเอ็มจี ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ยีนส์ ภายใต้แบรนด์ลี เปิดเผยว่า จากปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง บริษัทยอมรับว่าได้รับผลกระทบในด้านของยอดขายยีนส์ลีพอสมควรจากเดิมเคยมียอดขายเติบโตเฉลี่ยที่ 5% แต่ปัจจุบันอัตราการเติบโตปรับตัวลดลงเหลือเพียง 3% เท่านั้น เนื่องจากสัดส่วนยอดขายประมาณ 40% มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนที่เหลืออีก 60% มาจากกลุ่มลูกค้าคนไทย

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการทำตลาด ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในประเทศมากขึ้น เพื่อหารายได้มาชดเชยในส่วนที่หายไป โดยตลาดที่บริษัทจะให้ความสำคัญเข้าไปทำตลาดเพิ่มขึ้นคือ ต่างจังหวัด เนื่องจากคนในพื้นที่ดังกล่าวให้ความนิยมในการใส่ยีนส์โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ากางเกงยีนส์

นันทวรรณ กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาซื้อสินค้าร้านลีในประเทศไทย เพราะสินค้ามีคุณภาพดีกว่าและราคาถูก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาร้านลีจะมียอดการซื้อเฉลี่ยค่อนข้างสูง หรือประมาณ 6,000-7,000 บาท/บิล และบางครั้งมียอดการซื้อสูงถึง 2 หมื่นบาท/บิล โดยกลุ่มที่มียอดขายค่อนข้างสูงคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่

สำหรับกลยุทธ์ที่ซีเอ็มจีจะนำมาใช้เพื่อขยายฐานลูกค้าลีในตลาดต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้นคือ การจัดโรดโชว์ไปตามห้างค้าปลีกต่างๆ โดยหนึ่งในพันธมิตรที่จะเข้าไปร่วมทำการตลาดในต่างจังหวัดคือ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ขณะเดียวกันก็จะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดซื้อต่อบิลในตลาดต่างจังหวัดจาก 3,000 บาท/ครั้ง เป็น 5,000 บาท/ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายช็อปจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลีมากขึ้น จากเดิมจะเน้นการขยายสาขาในรูปแบบ จุดจำหน่าย หรือคอนเนอร์ เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการเดินห้างสรรพสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไปคือ เดินห้างลดลง แต่หันมาเดินศูนย์การค้ามากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย ดังนั้น ในปี 2562 ซีเอ็มจีจึงมีแผนที่จะขยายช็อปลีเพิ่มขึ้นอีก 2-3 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40 สาขา โดยแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท

นันทวรรณ กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนที่จะปรับช็อปลีให้มีความทันสมัยมากขึ้นอีก 7 สาขา ในปี 2562 ควบคู่ไปกับการเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใน ช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ช็อป แอนด์ แชต ของกลุ่มเซ็นทรัล เนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อสินค้าใน ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยในสิ้นปี 2561 นี้คาดว่าจะมียอดขายออนไลน์อยู่ที่ 20 ล้านบาท และในปี 2562 คาดว่าจะ เพิ่มเป็น 40 ล้านบาท ส่วนยอดขาย รวมในสิ้นปี 2561 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เติบโต 5%