posttoday

"เศรษฐพงค์"เตือนปี62 "AI"จะกระทบแรงงานในวงกว้าง

27 พฤศจิกายน 2561

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ชี้ ปี2562 เอไอจะสร้างผลกระทบแรงงานในวงกว้าง แนะระบบการศึกษาไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ทักษะแรงงานยุคใหม่

"เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ชี้ ปี2562 เอไอจะสร้างผลกระทบแรงงานในวงกว้าง แนะระบบการศึกษาไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ทักษะแรงงานยุคใหม่

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และโฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ในปี 2019 หรือปี 2562 จะเป็นปีแห่ง “ผลกระทบแรงงานในวงกว้างในยุค AI” โดยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า องค์กร IFR (International Federation of Robotics) หรือ สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ ได้เปิดเผยรายงานบน website ว่า ภายในปี 2020 ทั่วโลกจะมีการติดตั้งหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมถึง 1.7 ล้านหน่วย และในรายงาน World Robotics 2017 Industrial Robots ของ IFR ได้เปิดเผยด้วยว่า การเติบโตอย่างมากที่สุดเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

รายงานของ IFR ดังกล่าว เปิดเผยว่า ประเทศจีนมีอันดับการเติบโตของการใช้หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมเป็นอันดับหนึ่งของโลก และที่น่าสนใจคือประเทศจีน ได้ประกาศ "A Guideline on Developing Artificial Intelligence" ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับให้ AI เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศจีนเป็นผู้นำของโลกในด้าน AI ภายในปี 2030 โดยจีนต้องการให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนั่นเอง

ส่วนประเทศที่รองลงมาคือ ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน ตามลำดับ โดยตัวเลขหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (industrial robots) ในปี 2017 ได้แตะสถิติสูงสุดแล้วคือ มีตัวเลขถึง 387,000 หน่วย ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2016 ถึง 31% แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 11 ในการจัดอันดับ “15 largest markets 2016” ซึ่งเป็นการจัดอันดับตลาดที่ใหญ่ที่สุด 15 อันดับแรกของการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่ออุตสาหกรรมจากประเทศทั่วโลก จึงทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังเคลื่อนตัวสู่ระบบอัตโนมัติด้วยการใช้หุ่นยนต์ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมคนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการที่หุ่นยนต์ที่กำลังมาแทนแรงงานมนุษย์ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จึงทำให้องค์กรระดับนานาชาติหลายแห่งออกมาเตือนประเทศต่างๆ ให้ทำการพัฒนาทักษะของแรงงานรูปแบบดั้งเดิม เช่น World Economic Forum ได้คาดการณ์ว่า ระบบหุ่นยนต์ (robotics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์ถึง 5 ล้านตำแหน่งภายในปี 2020

งานวิจัยเรื่อง “Technology and the Future of ASEAN Jobs” โดย Cisco ร่วมมือกับ Oxford Economics ในการศึกษาถึงผลกระทบของ AI ต่อแรงงานในกลุ่มประเทศ ASEAN-6 ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งการศึกษาพบว่านวัตกรรมด้านดิจิทัลในยุคต่อจากนี้ไป จะทำให้เกิดโอกาสอันมหาศาลแก่ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังเปิดเผยอีกด้วยว่า จากการรวบรวมข้อมูลจาก 433 สาขาอาชีพ ใน 21 อุตสาหกรรม เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้กับบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลาในกลุ่มประเทศ ASEAN-6 โดยผลการศึกษาพบว่าภายในปี 2028 ในภูมิภาคอาเซียนจะต้องการแรงงานแบบดั้งเดิมลดลงกว่า 28 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมากกว่า 10% ของตำแหน่งงานใน ASEAN-6 ในปัจจุบัน โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่มีราคาถูกและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์หรือ AI ที่กำลังจะส่งผลกระทบต่ออาชีพหลายอาชีพของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอน การพัฒนาทักษะของคนในชาติให้เท่าทัน จะเป็นหนทางเดียวที่เราจะสามารถทำให้ประเทศก้าวไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม 4.0 ได้

เส้นทางเดินสู่อุตสาหกรรม 4.0 คือการทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการผลิตในรูปแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานแบบ real-time ที่ต้องใช้ระบบเซนเซอร์บนตัวหุ่นยนต์เชื่อมต่อกันผ่านระบบคลาวด์ (cloud robotics) ซึ่งจะทำให้หุ่นยนต์ในโรงงานเดียวกัน หรือหุ่นยนต์ที่อยู่คนละโรงงานสามารถทำงานประสานสอดคล้องกันได้ โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ระดับสากลได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่จะนำเอาระบบ 5G ที่มีการส่งข้อมูลเชื่อมต่อแบบ real-time ในการควบคุมสั่งการหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนผ่านสู่การทำงานแบบระบบอัตโนมัติด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ระบบอัตโนมัติกำลังก้าวไปสู่ทุกธุรกิจ เช่น ระบบคิดเงินอัตโนมัติที่เข้าไปแทนที่แคชเชียร์ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ไปจนถึงการเทรดในตลาดหุ้นที่ได้นำเอา robot traders ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ไปแทนที่ตำแหน่งงานของมนุษย์ได้ถึง 80% ส่วนในภาคการเกษตร เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นระบบ GPS, telematics และเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่าจะมีแรงงานในภาคการเกษตรที่อาจจะต้องว่างงานถึง 5.7 ล้านคน ภายในปี 2028 ในกลุ่มประเทศ ASEAN-6 หากไม่มีการเตรียมการ

World Economic Forum ได้มีข้อแนะนำว่า การที่จะเตรียมคนทักษะใหม่ๆ ที่ตอบความต้องการของแรงงานในศตวรรษที่ 21 ได้นั้น นโยบายของประเทศที่ผ่านระบบการเมืองการปกครองจะต้องมีความเข้าใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้สรุป 4 ประเด็นสำคัญยิ่ง (critical areas) ที่จะต้องทำการพัฒนาทักษะให้กับคนในประเทศ คือ

(1) การร่วมมือกันและทำงานเป็นทีม (Collaboration and teamwork)

(2) ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ (Creativity and imagination)

(3) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking)

(4) ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem solving)

ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตอัตโนมัติ จะต้องมีการพัฒนาคนในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์, สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึงช่างเทคนิกที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมและบำรุงรักษาหุ่นยนต์

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ได้ตบท้ายอีกด้วยว่า เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าด้วยอัตราเร่ง จึงทำให้รูปแบบการทำงานและอาชีพต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังถูกท้าทายและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้หากเราไม่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพราะแนวทางและสิ่งที่เราสอนเด็กๆ ไม่สามารถทำให้พวกเขามีความสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรแบบอัตโนมัติและ AI ได้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งประเทศไทย) ที่การเข้าถึงการศึกษายังถือว่ามีราคาแพง (สำหรับคนยากจนจำนวนมาก) และมาตรฐานการเรียนการสอนที่ไม่ทันโลก ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ