posttoday

ชงแผนจราจรควักหมื่นล้านเคลียร์ทางลัด

27 พฤศจิกายน 2561

คมนาคมเตรียมเสนอแผนแก้รถติดเข้า คจร.พิจารณาปลายเดือน ธ.ค. เล็งควักงบหมื่นล้านเวนคืนพื้นที่

คมนาคมเตรียมเสนอแผนแก้รถติดเข้า คจร.พิจารณาปลายเดือน ธ.ค. เล็งควักงบหมื่นล้านเวนคืนพื้นที่

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดจะสรุปแผนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ เบื้องต้นตำรวจนครบาลและกระทรวงคมนาคมได้วิเคราะห์เส้นทางสายหลักที่ต้องนำไปใช้รวม 21 สาย เช่น ถนนพระราม 9 สีลม สุขุมวิท และเพชรบุรี  ซึ่งจะเน้นเพิ่มความ คล่องตัวของจราจร โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้น การจัดการจราจร ห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด รวมทั้ง การลดจำนวนทางข้ามทางม้าลายในเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น ลดปริมาณลง 25% หรือจาก 4 แห่ง เหลือ 3 แห่ง อาทิ ถนนอโศก เป็นต้น

ด้านแผนการแก้ไขปัญหาระยะกลาง 3-5 ปีนั้นจะเร่งดำเนินการเวนคืนพื้นที่ถนนส่วนบุคคลที่สามารถ เชื่อมต่อถนนสายหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้การจราจรคล่องตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าและพื้นที่ เป้าหมาย  เช่น ซอยรามคำแหง 118 เป็นซอยลัดระยะทาง 600 เมตร เชื่อมต่อถนนรามคำแหงกับถนนร่มเกล้า ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ต้องเน้นไปยังจุดถนนสายหลัก 21 สาย และพื้นที่รอบวงแหวนชั้นในของเมืองหลวง เช่น รัชดาภิเษก อโศก พระราม 9 ประชาชื่น เป็นต้น ส่วนการเวนคืนที่ของกรุงเทพฯ อาจใช้งบประมาณมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทางกรุงเทพฯ เคยศึกษาไว้ โดย 21 เส้นทางหลักของกรุงเทพฯ และ 21 สายหลักของ สนข. ต้องมาสอดคล้องกัน โดยเน้นแก้ปัญหาวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นหลัก

นายสราวุธ  กล่าวต่อว่า สนข.จะรวบรวมข้อมูลเส้นทางลัดเพื่อมาแก้ปัญหา 21 เส้นทางต่อไป ซึ่ง แผนดังกล่าวจะเป็นแผนระยะยาว  หลังจากนั้นจะมาดูแผนโครงการที่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรุงเทพฯ จะก่อสร้างเพื่อเร่งรัดแผนให้เร็วขึ้น เพื่อจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งมาตรการใช้คลอง เพื่อเป็นทางเลือกในการสัญจรทางน้ำด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปิดใช้รถไฟฟ้า 10 เส้นทาง จะทำให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางและมาเลือกใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันอาจปรับลดเที่ยววิ่งของรถองค์การขนส่งมวลชน หากประชาชนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น