posttoday

ลงนามรถไฟจีนก่อนเลือกตั้ง

24 พฤศจิกายน 2561

"อาคม" ปรับแบบรถไฟไทย-จีน ลดต้นทุนซ่อมบำรุง อ้อนขอ ดอกเบี้ยเงินกู้จีน 2.6% เล็งหารือ สปป.ลาว เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์

"อาคม" ปรับแบบรถไฟไทย-จีน ลดต้นทุนซ่อมบำรุง อ้อนขอ ดอกเบี้ยเงินกู้จีน 2.6% เล็งหารือ สปป.ลาว เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 26 ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ได้ปรับแบบก่อสร้างจากเดิมที่จะใช้รูปแบบมีหินโรย (Ballast Track) ตลอดเส้นทาง มาใช้รูปแบบไม่มีหินโรย (Slab Track) ในบางช่วงของโครงการ ส่งผลให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายนี้วางรางแบบผสมผสาน

สำหรับกรอบเวลาการประมูลงานก่อสร้างวงเงินราว 1.3 แสนล้านบาทนั้น ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3,300 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ของกรมบัญชีกลาง หลังจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งเปิดประมูลงานก่อสร้าง 5 สัญญา วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รวมระยะทาง 238.5 กม. ภายในเดือน ม.ค. 2562 จากนั้นจะเร่งเปิดประมูลอีก 7 สัญญาที่เหลือ วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ก.พ.นี้

"การปรับแบบจะไม่กระทบต่อระยะเวลา โครงการยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่จะได้ประมูลทั้งหมดภายในไตรมาสแรกของปี 2562 หรือช่วงก่อนเลือกตั้ง จากนั้นจะเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างต่อไปทั้งเฟส 1 ภายในปี 2562 โดยมีเวลาก่อสร้างทั้งหมด 36 เดือน กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2564" นายอาคม กล่าว

สำหรับเฟส 2 ช่วงนครราชสีมาหนองคาย ระยะทาง 355 กม. นั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ เชื่อว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการออกแบบไม่นาน เพราะมีแผนก่อสร้างเฟส 1 เป็นต้นแบบอยู่แล้ว ขณะที่โครงการเฟส 3 ช่วงหนองคายเวียงจันทน์ นั้นจะมีการหารือกันระหว่างไทย- สปป.ลาว-จีน ในเดือน ม.ค.นี้ เบื้องต้นจะใช้รูปแบบร่วมกันลงทุนสองฝ่าย โดยให้จีนเป็นผู้ออกแบบและส่งเสริมความรู้ โดยจากที่เจรจากับ สปป.ลาวเบื้องต้นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจะอยู่ฝั่งหนองคาย

นายอาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น ได้หารือกันในหลายประเด็น คาดว่าจะลงนามสัญญา 2.3 ร่วมกับฝ่ายจีนได้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 วันที่ 25 ม.ค. 2562 ที่กรุงปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องการหาแหล่งทุนเพื่อดำเนินสัญญาดังกล่าวนั้นขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการสรรหาเงินทุน เบื้องต้นได้เสนอขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากจีน โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 2.6% ต่อปี โดยจีนได้เสนอให้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี จึงต้องหาข้อสรุปก่อนลงนามในสัญญา