posttoday

พณ.ดึงคูแปงเว็บดังเกาหลีส่งสินค้าไทยขายออนไลน์

24 พฤศจิกายน 2561

"สนธิรัตน์" เดินหน้าเฟส 2 สร้างแพลตฟอร์มไทยมอลล์ ขายสินค้าไทยใน Coupang ตั้งเป้ายอดขาด 200 ล้าน

"สนธิรัตน์" เดินหน้าเฟส 2 สร้างแพลตฟอร์มไทยมอลล์ ขายสินค้าไทยใน Coupang  ตั้งเป้ายอดขาด 200 ล้าน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าพบปะหารือกับผู้บริหารของบริษัท Coupang (คูแปง) อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของเกาหลีใต้ เพื่อขยายความร่วมมือในการผลักดันให้นำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในเว็บไซต์ coupang.com

ทั้งนี้ ได้หารือถึงการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ "Thai Mall" ในเว็บไซต์ Coupang สำหรับจำหน่ายสินค้าไทยเป็นการเฉพาะ โดยจะมีสินค้าที่หลากหลายเพิ่มขึ้นและครอบคลุมกลุ่มสินค้า เช่น อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน สินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น และตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกับผู้นำเข้าในการผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปวางจำหน่ายในเว็บไซต์ Coupang ได้แล้ว โดยเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อเดือน ส.ค. 2561 มีสินค้าไทยที่ถูกนำเข้าไปขายถึง 899 รายการ มีมูลค่ารวมกว่า 118 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

"สินค้าที่นำเข้าไปจำหน่ายได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ เพราะชาวเกาหลีใต้รู้จักแบรนด์สินค้าไทยมากขึ้นจากการที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาไทยถึงปีละ 1.5 ล้านคน โดยสินค้าไทยที่เป็นที่นิยมในการสั่งซื้อออนไลน์ส่วนมากเป็นน้ำจิ้มไก่ เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ขนมขบเคี้ยว เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย มะม่วงอบแห้ง ผลไม้อบแห้ง และเครื่องปรุงรส เช่น เครื่องต้มยำ" นายสนธิรัตน์ กล่าว

ปัจจุบันชาวเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะจับจ่ายซื้อหาสินค้าจากต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสถิติของศุลกากรเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า ในปี 2561 มูลค่าการซื้อสินค้าต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์จะเพิ่มสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 30%

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมูลค่าการค้าขายออนไลน์เติบโตเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คาดการณ์กันว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของเกาหลีใต้จะมีมูลค่าการค้าภายในประเทศกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งมูลค่าการค้าออนไลน์มีสัดส่วนสูงถึง 30% ของอุตสาหกรรมค้าปลีกของเกาหลีใต้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ และประชากรเกาหลีใต้กว่า 91% ต่างใช้โทรศัพท์มือถือแบบ สมาร์ทโฟน ซึ่งมียอดการสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 50% ของการซื้อผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด