posttoday

'โฟตอน'ปรับทิศธุรกิจหนีกระบะแข่งขันสูง

24 พฤศจิกายน 2561

บริษัท โฟตอน ออโตโมบิลฯ ค่ายรถจากจีน พลิกแผนจากทำตลาดกลุ่มรถกระบะ เป็นรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

ค่ายรถยนต์จากประเทศจีนอย่าง "โฟตอน" ที่แรกเริ่มเดิมทีหวังเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทยด้วยการจับตลาดใหญ่ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรถกระบะเป็นผลิตภัณฑ์แรกในปี 2558 และเริ่มทำตลาดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กาว หมิง ประธานกรรมการ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทได้เริ่มปรับทิศทางธุรกิจของบริษัทจากเดิมที่มุ่งเน้นการทำตลาดในกลุ่มรถกระบะเปลี่ยนเป็นรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์และจะเริ่มจริงจังขึ้นในปี 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจในประเทศจีนระยะเวลากว่า 22 ปี จึงมองว่าการทำตลาดในประเทศไทยน่าจะเอาความแข็งแกร่งดังกล่าวมาปรับทิศทางดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

"ประเทศไทยเป็นตลาดกระบะที่ใหญ่ติดอันดับโลก ซึ่งบริษัทตั้งใจจะมีชิงส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวนี้ แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากเจ้าตลาดและผู้เล่นในตลาดนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทหันมารุกตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์แทน"

นอกจากนี้ แผนธุรกิจของโฟตอนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งเดียวในภูมิภาคของบริษัทเพื่อทำตลาดในกลุ่มประเทศเป้าหมาย 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย

ด้วยความควบวงจรด้านการซัพพลายเชนจ์ของการผลิตรถยนต์ ถือได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการผลิตอย่างมาก ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยเพื่อพิจารณาการลงทุนโรงงานผลิตที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้

'โฟตอน'ปรับทิศธุรกิจหนีกระบะแข่งขันสูง

สำหรับแผนการลงทุนโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้นเป็นกลยุทธ์หนึ่งในด้านการรองรับการเติบโตและการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะมุ่งเน้นการผลิตรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ในทุกกลุ่ม ได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ (สิบล้อ) รถบรรทุกขนาดกลาง (หกล้อ) รถบรรทุกขนาดเล็ก (สี่ล้อ) รวมถึงรถหัวลาก รถตู้ รถมินิบัส และรถกระบะ โดยในช่วงแรกบริษัทเน้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่มาทำตลาดในประเทศไทยก่อน

จุดแข็งสำคัญของบริษัทที่เชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้บริโภคตอบรับแบรนด์นั้นคือ การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างกลางของรถแบรนด์ยุโรปและรถแบรนด์ญี่ปุ่น ซึ่งคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีเทคโนโลยีเทียบเท่าหรือสูงกว่ารถแบรนด์ยุโรป แต่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาใกล้เคียงกับแบรนด์ญี่ปุ่น จึงเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

ขณะที่อีกจุดแข็งสำคัญคือด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้มีการร่วมทุนในการพัฒนากับบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ บริษัทได้ร่วมทุนกับคัมมินส์ในการพัฒนาเครื่องยนต์ บริษัทได้ร่วมกับเดมเลอร์ในการพัฒนาขั้นตอนการผลิต และบริษัทได้ร่วมกับ แซดเอฟ ในการพัฒนาระบบส่งกำลัง (เกียร์) อีกทั้งความครบวงจรของผลิตภัณฑ์ที่มีทุกเซ็กเมนต์สามารถตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการความหลากหลาย

ดังนั้น บริษัทจึงได้ตั้งเป้าหมายในปี 2562 จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 3% หรือมียอดขายอยู่ที่ราว 1,000 คัน ของตลาดรถบรรทุกที่มีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นคัน/ปี และใน 5 ปีจากนี้ว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 10% ซึ่งมีเป้าหมายว่างจะเป็นท็อป 3 ของตลาดรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่ภายใน 3 ปี

หมิง กล่าวว่า ปี 2562 มองว่าจะเป็นปีทองของโลจิสติกส์ในทุกประเภทจากปัจจัยด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เป็นปัจจัยในการ กระตุ้นคำสั่งซื้อเพื่อการเตรียมตัวในด้านธุรกิจและการก่อสร้าง รวมถึงนโยบายการเปลี่ยนรถตู้ให้เป็นรถมินิบัส ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาในปีหน้านี้ทำให้เป็นปัจจัยบวกที่ดีของระบบโลจิสติกส์ประเทศไทย

คงต้องจับตาการปรับทิศทางธุรกิจของ "โฟตอน" หลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป