posttoday

ทีดีอาร์ไอหนุนปรับค่าโดยสาร หลังมีการปฏิรูปเส้นทาง-รถเมล์ใหม่

20 พฤศจิกายน 2561

ทีดีอาร์ไอหนุนปรับค่าโดยสารหลังปฏิรูปเส้นทาง-รถใหม่ ย้ำคิดค่าโดยสารตลอดสายราคาเดียวไม่มีในแผน

ทีดีอาร์ไอหนุนปรับค่าโดยสารหลังปฏิรูปเส้นทาง-รถใหม่ ย้ำคิดค่าโดยสารตลอดสายราคาเดียวไม่มีในแผน

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ความคืบหน้าการศึกษาปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสารสาธารณะนั้นขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้วพร้อมทั้งได้ศึกษาแนวทางค่าโดยสารของรถโดยสารที่ใช้พลังงานใหม่อย่างเอ็นจีวีและไฮบริดเพิ่มเข้าไปเรียบร้อยแล้วตามคำสั่งของกระทรวงคมนาคม ขณะนี้ได้เสนอผลศึกษาไปยังกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)แล้ว โดยอยู่ระหว่างการทบทวนของอธิบดีคนใหม่จึงอาจทำให้มีความล่าช้าไปบ้าง

ทั้งนี้ TDRI สนับสนุนให้มีการปรับค่าโดยสารภายหลังจากปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร 269 เส้นทางแล้วเสร็จในปี 2562 เพราะจะมีประสิทธิภาพมากกว่าทั้งด้านคุณภาพบริการและการกำกับดูแลตามเงื่อนไขที่ขบ.ระบุว่า การปรับค่าโดยสารใหม่จะใช้เฉพาะกับรถโดยสารใหม่หรือรถโดยสารที่ผ่านเงื่อนไขมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับที่ใช้ในกรณีปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่

อย่างไรก็ตามหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบแนวทางการปรับค่าโดยสารแล้วคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานราว 30 วันในการบังคับใช้ เชื่อมั่นว่าในอนาคตคุณภาพบริการของรถเมล์จะดีขึ้นแน่นอนหลังปฏิรูปเส้นทางเพราะผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเส้นทางเพียงรายเดียวทำให้ไม่มีการแข่งขันทำรอบหรือการแข่งขันลดต้นทุนจนทำให้กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนอีกต่อไป เช่นในกรณีรถเมล์สาย 8

"ถ้ายังใช้รถเมล์เก่ามาวิ่ง ปฏิรูปเส้นทางไปก็ไม่มีผล สุดท้ายจะซ้ำรอยเดิมเรื่องคุณภาพบริการที่ไม่ดี ปัญหานี้สะสมเรื้อรังมานานถึงเวลาที่ต้องแก้ไข"ดร.สุเมธกล่าว

ดร.สุเมธกล่าวต่อว่าส่วนด้านข้อเสนอของรถร่วมฯที่ต้องการปรับค่าขึ้นค่าโดยสารราคาเดียว 20 บาทตลอดสายนั้นในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยากเพราะเส้นทางเดินรถแต่ละสายไม่เท่ากันมีทั้งยาวและสั้นโดยเฉพาะรถปรับอากาศที่ควรคิดค่าโดยสารตามระยะทาง อีกทั้งการคิดค่าโดยสารเหมาจ่ายแบบนี้จะไม่ยุติธรรมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการระยะสั้น 3-4 ป้าย

"ยืนยันว่าทีดีอาร์ไอไม่มีได้เสนอแนวทางปรับขึ้นค่าโดยสารแบบตลอดสายให้กับกระทรวงคมนาคม แต่ถ้าหากจะดำเนินการนั้นแต่ละสายต้องคิดราคาเหมาจ่ายไม่เท่ากัน เช่น 10, 15 หรือ 20 บาทตลอดสาย"ดร.สุเมธกล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่จะยื่นขอเสนอเส้นทางใหม่ควรศึกษารายละเอียดเส้นทางมาอย่างดีเนื่องจากเอกชนผู้ให้บริการเส้นทางเดินรถสายใหม่บางรายยังคงขาดทุนและปริมาณบรรทุกผู้โดยสารเบาบาง มีปัจจัย 3 ข้อ 1.ความถี่ของลดน้อยเกินไปจนไม่สามารถกวาดผู้โดยสารชานเมืองได้เต็มที่ 2.เส้นทางเดินรถยาวเกินไป 3.จุดจอดรถเมล์ที่ยังมีไม่ทั่วถึงทำให้ผู้โดยสารไม่ใช้บริการเช่นเส้นทางรถเมล์ที่วิ่งบนทางด่วน

ส่วนกรณีที่มีบริษัทเอกชนรายใหญ่เตรียมลงทุนนับพันล้านบาทเพื่อควบรวมกิจการรถเมล์และรถร่วมฯนั้น ดร.สุเมธกล่าวว่าในเชิงทฤษฎีสามารถทำได้แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยาก เนื่องจากบริบทของรถร่วมฯเมืองไทยที่มีอยู่กหลายกลุ่มรวมถึงมีรายเล็กรายน้อยจำนวนมาก คำถามคือหากปล่อยให้บริหารกันเองปัญหาจะกลับไปซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ ดังนั้นเอกชนผู้ลงทุนต้องควบรวมอำนาจบริหารและนโยบายการทำงานไว้ทั้งหมด ตลอดจนต้องลงไปควบคุมทุกขั้นตอนตั้งแต่เรื่องความพร้อมของรถและงานซ่อม เรื่องคนขับและพนักงานบริการ ตลอดจนเรื่องของอู่เดินรถเมล์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน