posttoday

ครม.เทงบ1.8หมื่นล้านช่วยชาวสวนยาง พร้อมรับซื้อปาล์ม1.6แสนตัน

20 พฤศจิกายน 2561

ครม.เห็นชอบหลักการโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางงบ 1.86 หมื่นล้านบาท ให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท รับซื้อปาล์ม 1.6 แสนตัน

ครม.เห็นชอบหลักการโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางงบ 1.86 หมื่นล้านบาท ให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,800 บาท รับซื้อปาล์ม 1.6 แสนตัน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณะกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือช่วยสวนยางเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยางภายใต้วงเงิน 18,604.95 ล้านบาท ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางให้ได้ภายใน 7 วัน หลังราคายางตกต่ำ โดยช่วยเหลือเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ในจำนวนนี้ให้แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีด 700 บาท

เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ที่มีเจ้าของสวนยางเปิดกรีดจำนวน 999,065 ราย คนกรีดยางจำนวน 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่เปิดกรีดรวมประมาณ 10,039,672.29 ไร่ ใช้งบประมาณรวม 18,604.95 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่จ่ายให้ชาวสวนยางและคนกรีด 18,071.41 ล้านบาท งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 393.05 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้เจ้าของและคนกรีดยาง 13.98 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ 126.50 ล้านบาท โดยงบบริหารจัดการนี้จะใช้จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามนัยมาตรา 49(3) แห่ง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2548

ทั้งนี้ แหล่งงบประมาณ ค่าใช้จ่ายดำเนินทั้งหมดนี้ ให้ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนเพื่อเป็นการชดเชยตามผลการจ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง รวมค่าใช้จ่ายการดำเนินงานค่าธรรมเนียมโอนเงินและชดเชยต้นทุนเงินหรือตามความเห็นของกระทรวงการคลังต่อไป

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10 เดือน (ธันวาคม 2561-กันยายน 2562) หากไม่มีปัญหา อุปสรรค สามารถดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อีกครั้งเพื่อดูรายละเอียดและพิจารณาให้รอบคอบ

ส่วนกรณีที่จะมีการนำยางไปใช้ทำถนนในอดีตกรมบัญชีกลางยังไม่สามารถประกาศราคากลางออกมาได้ แต่หลังจากนี้น่าจะดำเนินการได้แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ครม.ได้หารือมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาทั้งเรื่องของยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยในส่วนมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ รัฐจะรับซื้อปาล์มน้ำมันในกิโลกรัมละ 18 บาท ประมาณ 1.6 แสนตันเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า โดยจะรับซื้อจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์โดยตรง ส่วนมาตรการระยะยาวจะเพิ่มการนำปาล์มน้ำมันมาเป็นส่วนผสมของน้ำมันบี 20 มีเป้าหมายปีละ 5 แสนตัน

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาด ส่งผลทำให้ต้นทุนของภาครัฐสูงขึ้นด้วย เช่น การนำปาล์มน้ำมันไปผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินไปดูแลในส่วนนี้ด้วย จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาอาจดูเหมือนง่าย แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนให้เห็นว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนเท่านั้น ไม่สามารถจะช่วยเหลือไปได้ตลอด ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลด้วย

ในส่วนการแก้ไขปัญราคายาง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีผลผลิตยางถึง 4.6 ล้านตัน แต่มีการใช้ยางในประเทศ 4 แสนตัน แต่รัฐบาลได้เร่งการนำผลผลิตมาใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนตัน แต่ยังเหลือผลผลิตอีก 4 ล้านตัน ถือว่าไทยมีผลผลิตปริมาณยางที่มากที่สุดในโลก ดังนั้น เรื่องราคาก็ขึ้นอยู่กับปริมาณด้วย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการลดพื้นที่ปลูกยาง และการแก้ไขปัญหาการปลูกยางในพื้นที่บุกรุกของรัฐบาล ยังมีปัญหากับประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจะดูแลในส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการการช่วยเหลือ โดยช่วยเหลือไม่เกิน 15 ไร่ เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศและมาตรการทั้งหมด ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการยางธรรมชาติก่อน

นายกรัฐมนตรี ขอร้องกลุ่มเกษตรกรอย่าออกมารวมตัวประท้วง เพราะรัฐบาลพยายามดูแลทุกกลุ่ม และอยากสร้างความเข้าใจว่าการรที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว แต่สิ่งสำคัญเกษตรกรต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้เข้าใจระบบการค้าการลงทุนในปัจจุบัน และต้องเข้าใจถึงสภาวะเศรษฐกิจโลกที่หลายประเทศประสบปัญหา แต่หากมองมาที่ประเทศไทย ถือว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังดีอยู่ แต่การแก้ปัญหานั้น รัฐบาลพยายามดูภาพรวมทั้งหมด จะช่วยเพียงเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ได้ และพยายามสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้กับเกษตกร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการการทำงานในการสกัดการลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในประเทศด้วย