posttoday

ปรับทัพองค์กร รับดิจิทัล ดิสรัปชั่น

20 พฤศจิกายน 2561

การแข่งขันในหลายองค์กร ธุรกิจนั้นทวีความรุนแรงขึ้น และการ เตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องวางแผนรับกับการเปลี่ยนแปลง

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

นับวันการแข่งขันในหลายองค์กร ธุรกิจนั้นทวีความรุนแรงขึ้น และการ เตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องวางแผนรับกับการเปลี่ยนแปลง

เอก อายะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) ธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านทรัพยากรบุคคล เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่าองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยในปี 2562 จะมีการลดจำนวนคนในการทำงานลง หรือไม่ ซึ่งพบว่าจำนวน 1 ใน 3 ยังมีความต้องการบุคลากรเพิ่มมากขึ้น หรือคิดเป็น 31%  ขณะที่ตัวเลข 2 ใน 3 ขององค์กรยังต้องการเวต แอนด์ ซี หรือรอดู รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลของบริษัทตนเองให้เต็มที่ก่อนถึง 61% ก่อนที่จะมีการจ้างงานใหม่  และสัดส่วน 8% ขององค์กรมีแผนจะลดจำนวนการจ้างงานลง อย่างเช่น สถาบันการเงิน ธนาคารที่มีการปิดสาขาหรือพนักงานที่สามารถทำงานได้หลากหลายมากกว่าการเป็นแค่พนักงานเทลเลอร์

ทั้งนี้ การจ้างงานขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยถือว่ามีการเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างสูง เนื่องจากอัตราเงินเดือนในการจ้างค่อนข้างต่ำ บุคลากรจึงมีการเปลี่ยนงานกันค่อนข้างมาก โดยทุกอุตสาหกรรมในปี 2560 มีการเปลี่ยนงานใหม่ 12.5% ส่วนครึ่งปีแรกของปีนี้มีการเปลี่ยนงาน 6.3% คาดว่าทั้งปีการเปลี่ยนงานจะไม่ต่ำกว่า 13-14% ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเปลี่ยนไปอยู่ใน 1.ธุรกิจอุปโภค-บริโภค Consumer Goods 2. เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การพัฒนาสุขภาพ Life Sciences 3.บริษัทไฮเทคทางด้านไอทีและดิจิทัลเป็นหลัก และองค์กรใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องทำให้บุคคลมีความสามารถมากขึ้นตามไปด้วย งานในรูปแบบเดิมๆ อย่างเช่น งานขายรูปแบบจะเปลี่ยนไป พนักงานมีความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
    
"เราจะเห็นคนทำงานทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้นที่มาจากธุรกิจ สตาร์ทอัพ และจะเห็นคนสามารถทำงานได้หลากหลาย ในรูปแบบ ฟรีแลนซ์มากขึ้น" เอก กล่าว

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยของการทำงานในองค์กรของคนแต่ละช่วงวัย จะพบว่าคนที่อยู่ในช่วงเบบี้บูมเมอร์ จะทำงานกับองค์กรเฉลี่ย 18-20 ปี

กลุ่มเจนเอ็กซ์จะทำงานเฉลี่ย 8-10 ปี  กลุ่มคนเจนวายจะทำงานเฉลี่ย 3-5 ปี ส่วนกลุ่มคนเจนซี หรือกลุ่มมิลเลนเนียลนั้นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงาน 2 ปี ส่วนใหญ่แล้วต้องการประกอบอาชีพอิสระมากกว่ามองสวัสดิการและผลตอบแทนที่จะได้รับและให้ความสำคัญกับ ไลฟ์สไตล์ในการทำงานมากกว่า

"องค์กรยุคใหม่จะต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน และต้องปรับให้เข้ากับความต้องการในยุคไฮเทค หากไม่มีการปรับตัวจะอยู่ได้ยากในระยะยาว ขณะเดียวกันก็มีการเริ่มหันมามองที่จะใช้คนสูงอายุเข้ามาทำงาน เช่น แทนที่จะเกษียนอายุ 60 ปี ก็ขยายออกเป็น 65 ปี เนื่องจากคนสูงอายุนั้นยังสามารถทำงานได้ และเงินออมในกลุ่มผู้สูงอายุไทยก็ยังมีไม่มากพอ" เอก กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัทได้เผยผลสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการประจำปี 2561 และแนวโน้มค่าตอบแทนที่ โดดเด่นและผลคาดการณ์แนวโน้มอัตราการจ้างงานและเงินเดือนในปี 2562 ในเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยในปีนี้มีบริษัทในประเทศไทยเข้าร่วมการสำรวจกว่า 560 บริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม พบว่าในตลาดเกิดใหม่ประเทศที่คาดว่าจะได้รับเงินเดือนสูงสุดในปี 2562 คือ บังกลาเทศ 10% เวียดนาม 9.8% อินเดีย 9.2% ในทางตรงกันข้ามออสเตรเลียเงินเดือนขึ้นอยู่ที่ 2.6% นิวซีแลนด์ 2.5% และญี่ปุ่น 2% จะเห็นได้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการขึ้นเงินเดือนจะค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีความมั่นคง สำหรับประเทศไทยปี 2561 และปี 2562 จะมีการขึ้นเงินเดือนสัดส่วน 5.5% หากเปรียบกับเมียนมามีการขึ้นเงินเดือนเพียง 9%

สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในยุคดิจิทัลที่มีการใช้เทคโนโลยีนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างและจัดการระบบนิเวศบุคลากรให้มีความหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจ้างพนักงานแบบชั่วคราว ผู้รับงานอิสระ และการหาบุคลากรจากกลุ่มผู้ที่มีพรสวรรค์ด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น