posttoday

บางกอกแอร์เวย์ส 'ต้องออกนอกกรอบ'

20 พฤศจิกายน 2561

จากกรณีที่ธุรกิจสายการบินกระหน่ำราคา ส่งผลให้สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษารายได้และผลกำไรที่กลับมาเป็นบวก

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

ยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือด สำหรับธุรกิจสายการบินโดยเฉพาะการกระหน่ำราคา ส่งผลให้สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ที่วางตำแหน่งทางการตลาดมุ่งให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส และไม่เล่นสงครามราคาต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษารายได้และผลกำไรที่กลับมาเป็นบวก

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า แนวทางการปรับตัวของสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ได้วางไว้หลายแนวทาง หลักๆ คือ การขยายตลาดใหม่ในธุรกิจเดิมคือสายการบินและการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสายการบินแต่ทำกำไรได้มากกว่า

"การแข่งขันราคารุนแรง ทำให้กำไรบางลงเรื่อยๆ ซึ่งบางกอกแอร์เวย์สจะขยายไปในตลาดที่ยังเป็นบลูโอเชียน เพื่อสร้างโอกาสในตลาดที่ยังไม่มีการแข่งขันมากนักและมีศักยภาพ"

สำหรับการขยายตลาดในธุรกิจเดิมนั้นจะเน้นการเปิดเส้นทางบินใหม่ในตลาดใหม่ โดยปีหน้าจะเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ระหว่างกรุงเทพฯ-ญาจาง (เวียดนาม) สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 25 ม.ค. 2562 เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่สำหรับตลาดไฮเอนด์ที่รัฐบาลเวียดนามสนับสนุน รวมทั้งจะเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-กระบี่ เดือน เม.ย. 2562 เช่นกัน
 
นอกจากนี้ จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายเส้นทางบินในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี เพื่อให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในซีแอลเอ็มวี

ขณะที่การขยายธุรกิจใหม่ๆ จะเน้นไปที่การเข้าประมูลเพื่อบริหารดิวตี้ฟรี โดยพร้อมเข้าประมูลดิวตี้ฟรีทุกแห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรผู้ดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในยุโรป 2 ราย เพื่อคัดเลือก 1 รายเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ รวมถึงแผนรุกธุรกิจดิวตี้ฟรีและเมืองการบินที่จะเปิดประมูลเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอความชัดเจนของทีโออาร์หรือขอบเขตการจ้างงานจากภาครัฐก่อน เพื่อนำไปเจรจาและสรุปกับพันธมิตร โดยคาดว่าผู้เข้า ประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิจะเป็นรายเดิม 5-6 ราย ที่เข้าประมูลดิวตี้ฟรีอู่ตะเภา ซึ่งการเงินของบางกอกแอร์เวย์สพร้อม เพราะยังมีเงินจากการระดมทุนเหลืออีกกว่า 6,000 ล้านบาท

อีกธุรกิจที่สนใจคือ ศูนย์ดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) ซึ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีที่ดอนเมือง และกำลังก่อสร้างที่ จ.สุโขทัย คาดดำเนินการได้ปี 2563 และสนใจจะเข้าพัฒนาเอ็มอาร์โอที่เมืองการบินอีกด้วย ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐเช่นกัน

"ปัญหาของการทำเอ็มอาร์โอคือ ช่างซ่อมเครื่องบินไม่พอ จึงมองว่าเป็นโอกาสและสนใจจะตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านซ่อมบำรุงเครื่องบินอีกด้วย" พุฒิพงศ์ กล่าว

ด้านผลประกอบการของบางกอกแอร์เวย์ส 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 69% ภาพรวม ทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 70% มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 1% และปีหน้าตั้งเป้าผู้โดยสารเพิ่ม 3% จากปีนี้อยู่ที่ 6 ล้านคน

พร้อมกันนี้จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดเข้าช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยปีหน้าจะพัฒนาระบบการจองที่นั่งใหม่ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบของอะมาดิอุสแทนเซเบอร์ คาดระบบสมบูรณ์ในเดือน ก.ย.  2562

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อเครื่องบินใหม่จากปัจจุบันใช้การเช่าเครื่องเจ็ตรวม 24 ลำ ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งจะทยอยหมดสัญญาเช่าในปีหน้า โดยจะพิจารณาว่าจะซื้อใหม่ทั้งหมดหรือเช่าต่อบางส่วน

จากแผนงานต่างๆ ดังกล่าว พุฒิพงศ์ บอกว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่ง การออกนอกกรอบของบางกอกแอร์เวย์ส จากการขยายธุรกิจใหม่ๆ และคาดว่าภายใน 5 ปีธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำ จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนทั้งในแง่รายได้และผลกำไร