posttoday

'โตโยต้า'ยกเครื่องผู้บริหาร ปรับโครงสร้างใหญ่ ดันคนรุ่นใหม่ขึ้น

17 พฤศจิกายน 2561

โตโยต้าลุยปรับโครงสร้างผู้บริหาร ลดอาวุโสดันคนรุ่นใหม่ขึ้น หวังรับมือความเปลี่ยนแปลง

โตโยต้าลุยปรับโครงสร้างผู้บริหาร ลดอาวุโสดันคนรุ่นใหม่ขึ้น หวังรับมือความเปลี่ยนแปลง

นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เตรียมยกเครื่องโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ในเดือน ม.ค. 2019 ด้วยการปรับลดตำแหน่งบริหารลงมากกว่าครึ่ง เพื่อเพิ่มที่ว่างให้สามารถผลักดันพนักงานรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขึ้นมาแทน นับเป็นส่วนหนึ่งของการ ปรับทิศทางบริษัท ที่พยายามแตกไลน์ ธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นนอกเหนือการผลิตรถยนต์

รายงานระบุว่า ปัจจุบันโตโยต้ามี ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งรวมถึงประธานและรองประธาน จำนวนทั้งสิ้น 55 คน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้จำนวนผู้บริหารระดับสูงลดลงมากถึง 60% ส่วนคนรุ่นใหม่ที่โตโยต้าจะดันให้ขึ้นมาแทนที่นั้นมาจากตั้งแต่ระดับหัวหน้าแผนก ผู้จัดการระดับสูง และผู้จัดการระดับล่าง ที่มีอายุในช่วงวัย 40 ปี จำนวนมากกว่า 2,000 คนในบริษัท

"โตโยต้ากำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เราต้องการใช้ประโยชน์จากบุคลากรที่มีความสามารถของเรา โดยที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นคนรุ่นใหม่หรือเป็นผู้อาวุโส" พนักงานของโตโยต้า กล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปรับกลยุทธ์ทิศทางของโตโยต้า ซึ่งบริษัทได้หันไปให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ นอกเหนือจากการผลิตรถอย่างเดียว โดยล่าสุด โตโยต้ากลายเป็นค่ายรถญี่ปุ่นแห่งแรกที่เตรียมเปิดบริการให้เช่ารถในปีหน้า ในชื่อ คินโตะ (KINTO) หวังสร้างรายได้ทดแทนยอดขายรถในญี่ปุ่นที่ลดลง สวนทางกับยอดขายทั่วโลกที่ปรับขึ้นแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) ในแกร็บ ผู้ให้บริการเรียกรถรับส่งรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรอยเตอร์สระบุว่า การลงทุนในแกร็บของโตโยต้าไม่ใช่เพียงแค่การขยายธุรกิจไปยังไลน์อื่นๆ เท่านั้น แต่โตโยต้าจะได้ประโยชน์จากการได้รับข้อมูลผู้โดยสารนับหมื่นคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้บริการของแกร็บ เนื่องจากโตโยต้ามีการติดตั้งระบบทรานส์ล็อก (TransLog) อุปกรณ์ บันทึกการขับขี่ในรถของแกร็บ ซึ่งจะ ทำให้สามารถเข้าถึงรูปแบบการขับขี่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของโตโยต้าในอนาคต

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โตโยต้ายังได้ประกาศปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ด้วยการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซึโอกะ ภายในปีงบการเงิน 2020 และหันมามุ่งพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์ไร้คนขับอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายว่าจะผลิตรถอีวีออกมาจำนวน 10 รุ่นให้ได้ภายในปี 2020

นอกจากนี้ สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า โตโยต้ายังได้ประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่กับไอชิน เซกิ และเด็นโซ่ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.23 หมื่นล้านบาท) เพื่อเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับโดยเฉพาะ

"โตโยต้าจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากไม่ทำการปฏิวัติยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจให้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม" พนักงานโตโยต้า กล่าว