posttoday

ญี่ปุ่น-จีนลุยลงทุนอีอีซี สนใจโครงสร้างพื้นฐานไทย

15 พฤศจิกายน 2561

เจบิกย้ำญี่ปุ่นเตรียมจับมือจีนเดินหน้าลงทุนอีกหลายโครงการ หลังประเดิมเข้าชิงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

เจบิกย้ำญี่ปุ่นเตรียมจับมือจีนเดินหน้าลงทุนอีกหลายโครงการ หลังประเดิมเข้าชิงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2561 นายทะดะชิ มะเอะดะ กรรมการผู้อำนวยการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ได้เข้ามาพบหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งฝ่ายเจบิกได้รายงานถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่าง จีนแลญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะร่วมมือไปลงทุนประเทศที่ 3

“เขาแสดงความยินดีกับไทยที่เป็นเพียงประเทศเดียวที่ในเวทีการหารือระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ผู้นำทั้งสองประเทศระบุขึ้นมาว่าเป็นเป้าหมายที่จะมีความร่วมมือเพื่อเข้ามาลงทุน” นายสมคิด กล่าว

สำหรับโครงการลงทุนล่าสุดที่แสดงถึงความร่วมมือของสองประเทศคือการร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้า(Consortium) โดยฮิตาชิกับไชน่าเรลเวย์ มาร่วมกับกลุ่มซีพีในไทยเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และยืนยันว่าหลังจากนี้จะมีความร่วมมือเข้ามาลงทุนในโครงการอื่นๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เปิดประกวดราคาแล้วและกำลังจะเปิดประกวดราคา เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา

ทั้งนี้ เป็นแนวทางความร่วมมือที่ดี ที่ทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ (บิ๊กเพลเยอร์) และทางไทยก็อยากให้เข้ามาร่วมกันเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือไทย จีน ญี่ปุ่น

ด้านแหล่งเงินทุนนั้น รัฐบาลไทยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการไปกู้ยืมเงินมาลงทุน เพราะโครงการนี้เป็นการลงทุนโดยเอกชน ซึ่งเมื่อร่วมกันมาแล้วแหล่งทุนจะทั้งจากจีนและเจบิก ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแลให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ โดยหลังจากนี้ความร่วมมือจะมีตามมาอีกมาก

นายสมคิด กล่าวว่า หลายสิ่งหลายอย่างในอนาคตกำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและตอนนี้รัฐบาลกำลังรอ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะสามารถประกาศได้ภายในปลายปีนี้ หรือไม่ หากยังไม่ประกาศก็เป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะสานต่อ เพราะปีหน้าไทยจะเป็นประธานอาเซียน ส่วนปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น เชื่อว่าจะมีผลกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งไทยก็ต้องหาทางรับมือให้ดี

อย่างไรก็ตาม ส่วนของกรอบความร่วมมือ RCEP นั้นมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะกรอบความร่วมมือนี้ แม้จีนจะเป็นแกนกลาง แต่ขณะนี้มีสัญญาณออกมาเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นให้ความสนับสนุนอย่างมาก และเมื่อญี่ปุ่นสนับสนุน อินเดียที่เคยมีปัญหาในที่สุดก็ต้องเห็นชอบให้กรอบความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้ เพราะประเทศอื่นๆ เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดแล้ว ซึ่งหาก RCEP เกิดขึ้นได้ จะกลายเป็นกรอบความร่วมที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในโลก และทำให้เอเชียโดดเด่นยิ่งขึ้นอีกในระยะต่อไป

ปัจจุบันเป็นโอกาสของเอเชียที่โดดเด่นขึ้นและประเทศที่มีบทบาทในเอเชีย อย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีความร่วมมือใกล้ชิด และอนาคตจะมีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ลึกและกว้างมากขึ้น โดยไทยกำลังวางแนวทางไปสู่การเชื่อมกับมณฑลที่มีบทบาททางเศรษฐกิจโดยเฉพาะฮ่องกง มาเก๊า และกวางตุ้ง