posttoday

รีดภาษีเค็ม-ไขมัน พลิกวิกฤตสู่เซ็กเมนต์

09 พฤศจิกายน 2561

กรมสรรพสามิตมีแผนเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบการเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารสำเร็จรูปในวงกว้าง

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

จากการที่กรมสรรพสามิตมีแผนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบการเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก สำหรับแนวทางดำเนินการขั้นต้นจะให้เวลา ผู้ประกอบการในการปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารสำเร็จรูปในวงกว้าง

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่า การเก็บภาษีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของเกลือหรือโซเดียมและไขมัน ขณะนี้คงต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐ อย่างไรก็ตามบริษัทได้พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับกับแนวทางดังกล่าว โดยจะทำการปรับสูตรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้มีส่วนผสมของโซเดียมลดลงโดยเฉลี่ย 5% ในแต่ละปี
   
ทั้งนี้ เพราะหากปรับลดโซเดียมทั้งหมดทันที จะกระทบต่อรสชาติและความคุ้นเคยของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สินค้าได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในด้านของรสชาติที่ไม่เหมือนเดิม พร้อมวางเป้าหมายภายใน 3-4 ปีข้างหน้าผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่าจะมีโซเดียมต่ำกว่ามาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจอาหารหรือของกินที่ต้องเข้าปาก สุดท้ายก็ต้องตอบโจทย์ด้านความอร่อยให้กับกลุ่มลูกค้า

ด้านแหล่งข่าวในตลาดขนมขบเคี้ยวหรือสแน็ก ระบุว่า แนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มกับไขมันไม่ได้แตกต่าง จากภาษีความหวานในกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งพบว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมและ ไขมันค่อนข้างสูงจะเป็นกลุ่มมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูป อย่างไรก็ดีเชื่อว่ากลุ่มผู้ประกอบจะปรับสูตร โดยนำส่วนผสมด้านอื่นๆ มาทดแทนการใช้เกลือ เพื่อทำให้สแน็กมีความอร่อย

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มกับไขมัน จะผลักดันให้ภาพรวมของตลาดสแน็กในเซ็กเมนต์เพื่อสุขภาพแจ้งเกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นภายใน 3 ปี โดยพบว่าพฤติกรรมของกลุ่มคน รุ่นใหม่รับรู้ถึงการมีส่วนประกอบต่างๆ ในการปรุงแต่งสแน็ก และเริ่มใส่ใจด้านสุขภาพ แต่ขณะที่พฤติกรรมการกินปัจจุบันยังไม่สามารถปฏิบัติได้

"ตลาดสแน็กในเซ็กเมนต์เพื่อสุขภาพในไทย เริ่มมีผู้ประกอบการสร้างตลาดมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากยัง ไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภค คนไทย เนื่องจากต้องยึดติดที่ความอร่อยมากกว่าสุขภาพ แต่เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะปูทางไปสู่ตลาดสแน็กเพื่อสุขภาพให้เติบโตเพิ่มขึ้น"

ขณะที่การพัฒนาสแน็กโดยการลดปริมาณโซเดียมและไขมันนั้น ในส่วนนี้มองว่าไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตของ ผู้ประกอบการลดลง เพราะผู้ประกอบการต้องนำสารปรุงแต่งด้านอื่นๆ เพื่อทำให้สินค้ามีความอร่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ในตลาดสแน็กเพื่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นกระบวนผลิตจากทอดกรอบมาสู่อบกรอบ หรือการใช้น้ำมันรำข้าวแทนการใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อสร้างตลาดและขยายฐานลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ

การปรับของธุรกิจผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป คงไม่แตกต่างจากกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่ม แต่ในยามวิกฤตยังมีโอกาสอยู่เสมอ ซึ่งบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปในไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัวและสแน็กซึ่งไม่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปี เส้นทางเพื่อสุขภาพ อาจเป็นการสร้างโอกาสและขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นได้