posttoday

พลังงานเร่งคลอดพีดีพีใหม่

08 พฤศจิกายน 2561

"ศิริ" เดินหน้าเร่งจัดทำแผนพีดีพี หวังประกาศใช้ปี 2562 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินรอผลศึกษาเอสอีเอคาดเสร็จหลังปี 2570

"ศิริ" เดินหน้าเร่งจัดทำแผนพีดีพี หวังประกาศใช้ปี 2562 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินรอผลศึกษาเอสอีเอคาดเสร็จหลังปี 2570

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้เร่งหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเร่งจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี) เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในเดือน  ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในต้นปี 2562 ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้ การจัดทำแผนอยู่ระหว่างการลงรายละเอียดถึงความต้องการใช้ไฟฟ้า เพราะปริมาณสำรองขณะนี้อยู่ระดับเฉลี่ยสูงถึง 25-30% ของกำลังการผลิต ซึ่งจะเพียงพอต่อการใช้ไปถึงปี 2567-2568 จากนั้นจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ดังนั้น เบื้องต้นการจัดลำดับโรงไฟฟ้าภายใต้แผน พีดีพีใหม่ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง จึงมองทางเลือกไปยังโรงไฟฟ้าหลักที่เป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เป็นลำดับแรก

ด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะถูกจัดไว้ในแผนหลังปี 2570 เนื่องจากยังมีความเห็นต่าง ซึ่งต้องรอผลการศึกษาจากคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) เกี่ยวกับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ก่อนว่าจะสามารถมี โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในปลายแผนปี 2580 จะอยู่ที่ 61,965 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพีฉบับปัจจุบัน (ปี 2558-2579) ที่คาดว่าพีกในปลายแผนปี 2579 จะอยู่ที่ 49,655 เมกะวัตต์ และเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 34,102 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2560 พบว่า มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบประมาณ 3.03 หมื่นเมกะวัตต์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้อยู่ที่ 3.4 หมื่นเมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตขาดดุลติดลบ 3,600 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม หลังปี 2580 จะมีกำลังผลิตที่ขาดอยู่ที่ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น กระทรวงพลังงานต้องเร่งรัดให้ กฟผ.เตรียมพร้อมรับมือกับกำลังผลิตไฟฟ้า ต้องตอบโจทย์เรื่องความมั่นคง ยั่งยืน และราคาไม่แพง ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ซึ่งไทยมีสัญญาซื้อไฟฟ้ากับลาว 9,000 เมกะวัตต์ คงสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ 30% ในปี 2580 แต่พลังงานทดแทนยังไม่มีความเสถียรเพียงพอ