posttoday

โดเมนเนมกับยูอาร์แอล

07 พฤศจิกายน 2561

เว็บไซต์ทั้ง 3 เว็บข้างต้นนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันคือเป็นเว็บไซต์บนโลกออนไลน์เหมือนกันทั้งหมด

เว็บไซต์ทั้ง 3 เว็บข้างต้นนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันคือเป็นเว็บไซต์บนโลกออนไลน์เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกันกันออกไปด้วย นั่นก็คือชื่อและนามสกุลของเว็บไซต์ ซึ่งหลายๆ คนอาจเข้าใจว่ามันก็เหมือนๆ กัน จะใช้ชื่อ และตามหลังด้วย .com .net .co อะไรก็ได้ตามที่ต้องการ แต่แท้ที่จริงแล้วรายละเอียดทั้งหมดบนยูอาร์แอล (URL) นั้น มีความหมายในตัวมันเองทั้งสิ้น วันนี้เราจึงจะมาอธิบายเรื่องราวของโดเมนเนม (Domain Name) และรายละเอียดสำคัญที่คนทำเว็บต้องรู้ให้ทุกท่านได้รับชมกันครับ

โดเมนเนม (Domain Name)

คือชื่อเฉพาะของเว็บไซต์นั้นๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อนำไปใช้งาน โดยปกติแล้วควรตั้งให้สั้น กระชับ และบ่งบอกความเป็นตัวเราได้ทันที และพึงระลึกเสมอว่าชื่อโดเมนเนมยิ่งสั้นยิ่งดี ถ้ายาวเกินไปจะทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ โดยกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่มักใช้ชื่อแบรนด์ของตนเองเป็นโดเมนเนมเพื่อการจดจำที่ง่ายขึ้น ตัวอย่างชื่อโดเมน เช่น “apple”.com,“fullrichbride”.com หรือ “makewebeasy”.com เป็นต้น

หลังจากเลือกชื่อโดเมนได้แล้ว สิ่งที่ควรรู้ต่อมาก็คือนามสกุล ที่สามารถดูได้จากส่วนขยายที่ต่อท้ายจากชื่อโดเมน ซึ่งก็คือบรรดา .com .net .co.th .org ฯลฯ ซึ่งนามสกุลเหล่านี้แม้ในทางเทคนิคจะไม่แตกต่างกันมาก และมีให้เลือกใช้กว่าพันแบบ แต่สกุลที่เราได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง .com .net .ac .co .org นามสกุลเหล่านี้อยู่ในกลุ่มของ Top-Level Domains (TLDs) หรือสกุลที่เป็นที่รู้จักและคุ้นชินของผู้ใช้ทั่วโลกนั่นเอง ซึ่งนามสกุลแต่ละอันสามารถระบุประเภทของเว็บไซต์นั้นๆ ได้ในบางครั้งด้วย อันเนื่องมาจากการใช้งานส่วนใหญ่ของประเภทเว็บไซต์ที่ใช้งานกันมายาวนาน โดยอาจจำแนกเป็นประเภทได้ ดังนี้

.com - เว็บไซต์เชิงพาณิชย์ ร้านค้า หรือเว็บไซต์ทั่วไป .net - เว็บไซต์เกี่ยวกับระบบ Network, .org - เว็บไซต์องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร .ac.th - เว็บไซต์สถาบันการศึกษาในประเทศไทย .co.th - เว็บไซต์องค์กรธุรกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ในประเทศไทย .go
.th - เว็บไซต์หน่วยงานของรัฐบาลไทย.or.th - เว็บไซต์ราชการ หรือองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้นามสกุลที่ตามหลังชื่อโดเมนมีให้เลือกมากมายกว่าพันแบบ ซึ่งนามสกุลกลุ่มใหม่ๆ นี้อาจไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกรุ๊ป TLDs แต่เป็นกลุ่มใหม่ เช่น tv.line.me หรือ www.thinkparty.agency เป็นต้น

สาเหตุที่เว็บไซต์ส่วนใหญ่เลือกใช้นามสกุลเดิมๆ เป็นเพราะว่าชื่อเหล่านั้นคุ้นหูผู้ใช้อยู่แล้ว จดจำง่าย และภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าหากลองเปลี่ยนไปใช้นามสกุลอื่นที่ไม่คุ้นหู ผู้ใช้ก็อาจจะไม่เชื่อถือเว็บไซต์นั้นๆ ก็เป็นได้

ยูอาร์แอล URL (Universal Resource Locator)

ยูอาร์แอล คือ รายละเอียดที่อยู่ที่จะสามารถนำทางไปยังเว็บไซต์นั้นๆ ได้ สมมติง่ายๆ ให้เว็บไซต์เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง Domain Name คือชื่อบ้านหลังนั้น ส่วน URL คือเส้นทางที่จะพาไปยังบ้านหลังนั้นนั่นเอง โดย URL จะประกอบไปด้วย

ส่วนแรก - ระบบรักษาความปลอดภัยของเว็บไซต์ที่เรียกว่า SSL ซึ่งเว็บไซต์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยนี้จะมีชื่อ https อยู่ด้านหน้า URL

ส่วนที่สอง - ชื่อโดเมนของเรา เช่น www.makewebeasy ส่วนที่สาม - นามสกุลต่อท้าย เช่น .com .net .co.th เป็นต้น

ถ้ารวมข้อมูลทั้งสามส่วนเข้าด้วยกันจะได้ผลลัพธ์เป็น https://www.makewebeasy.com ซึ่งถ้าเรานำเอา URL ทั้งหมดไปใส่ในช่องกรอก URL ก็จะเป็นการนำทางไปยังเว็บไซต์ของเรานั่นเอง

เว็บไซต์ (Website)

แม้ว่าคุณจะซื้อชื่อโดเมนเรียบร้อยแล้ว มียูอาร์แอลแล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณมีเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว เพราะเว็บไซต์เป็นจุดหมายปลายทางในโลกออนไลน์ที่ต้องสร้างขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ เปรียบเทียบเว็บไซต์เป็นร้านขายสินค้า ชื่อโดเมนคือชื่อร้านค้า ยูอาร์แอล คือ ที่อยู่ของร้าน ส่วนเว็บไซต์ คือ ตัวร้านจริงๆ ที่มีสินค้าให้เลือกซื้อ

นอกจากนี้ ภายในเว็บไซต์ยังจะต้องมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทสัมภาษณ์ รายละเอียดสินค้าหรือบริการ รูปภาพ หรือสื่ออื่นๆ ที่สามารถใส่ลงไปได้

รู้จักกับความแตกต่างของโดเมนเนม ยูอาร์แอล และเว็บไซต์กันไปแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจส่วนประกอบของเว็บไซต์มากขึ้นก่อนลงมือทำ แม้ว่ารายละเอียดของหลายๆ ส่วนนั้นจะดูยาก แต่ปัจจุบันการสร้างเว็บไซต์เรียกได้ว่ามีความง่ายมากๆ หากเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งเจ้าของธุรกิจหลายรายหันมาทำเว็บไซต์เพื่อสู้กับคู่แข่งในโลกออนไลน์กันมากขึ้น และบางธุรกิจ การมีเว็บไซต์ก็ทำให้ผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดดด้วย