posttoday

"ธีระชัย"เตือนอนาคต"ยางพาราไทย"กำลังตีบตัน

04 พฤศจิกายน 2561

อดีตรมว.คลังเตือนอนาคตยางพาราไทยกำลังตีบตัน หลังยุโรปเตรียมกำหนดมาตรฐานยางรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยางพาราธรรมชาติไม่สามารถตอบโจทย์ได้

อดีตรมว.คลังเตือนอนาคตยางพาราไทยกำลังตีบตัน หลังยุโรปเตรียมกำหนดมาตรฐานยางรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยางพาราธรรมชาติไม่สามารถตอบโจทย์ได้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับทิศทางตลาดยางพาราไว้อย่างน่าสนใจ โดยไม่เนื้อหาดังนี้

"อนาคตยางพาราตีบตัน!"

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัยการผลิตยางพาราไทยกับมาเลเซีย พบว่า ไทยขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่มาเลเซียลดพื้นที่เพาะปลูกลง

"ในขณะที่ ไทยมีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 14.2% หรือประมาณ 6 แสนตันเท่านั้น จากกำลังการผลิต 4.5 ล้านตัน ส่วนมาเลเซียใช้ยางพาราในประเทศ 35% และส่งออก 65% ทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่รุนแรงเท่ากับไทย

โดยราคายางตอนนี้กิโลกรัมละ 46 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 63 บาท ทำให้ขาดทุน 26 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งธนาคารโลกเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 66 บาท

ทางรอดของยางพาราไทย คือ จะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น และลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงอย่างน้อย 30% ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น"

ขณะนี้ มีบางพรรคการเมืองเตรียมจะหาเสียงจากราคายางพารา จะเสนอนโยบายต่างๆ นาๆ เพื่อดึงราคาให้สูงขึ้น แต่ผมคิดว่า บทวิเคราะห์ของ ม.หอการค้า ถูกต้องแล้ว

เดิมแนวโน้มความต้องการยางพาราธรรมชาติสูงมาก เพราะแค่คนจีนและคนอินเดีย มีนิสัยชอบขับรถไปไหนมาไหน เพียงแค่มากเท่ากับคนไทย ก็จะมีความต้องการยางรถยนต์ต่อไปในอนาคตอีกสูงมาก

แต่มาวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว!

ยุโรปกำลังกำหนดมาตรฐานยางรถยนต์รุ่นใหม่ ต้องมี 3 คุณสมบัติ

หนึ่ง ต้องเบากว่าเดิมมาก (ซึ่งย่อมใช้เนื้อยางน้อยลง)

สอง ต้องเกาะถนนโดยสร้างแรงเสียดทานน้อยลง เพื่อจะได้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยลง และ

สาม ต้องสะท้อนเสียงจากผิวถนนน้อยลง เพื่อเข้ากับความเงียบในยุครถไฟฟ้า

ปรากฏว่า ยางพาราธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยต่อคุณสมบัติเหล่านี้ มีแต่ยางสังเคราะห์ประเภทหนึ่งจากธุรกิจปิโตรเลียมที่เข้าคุณสมบัตินี้ได้

ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรจะต้องกระทำก็คือ ลดพื้นที่ปลูกลงตามแนวทางที่ ม.หอการค้าเสนอ พร้อมทั้งเร่งรัดการวิจัย เพื่อหาวิธีการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น

แต่อนาคตยางพาราที่เดิมสดใส วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต่างจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งยุโรปกำลังจะยกเลิกการใช้โดยสิ้นเชิง ผลกระทบทั้งสองเรื่องนี้ต่อไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จะมีไม่น้อย