posttoday

รีดรายได้เยียวยาคลื่นหมื่นล้าน

02 พฤศจิกายน 2561

กสทช.เรียกเก็บรายได้ ช่วงมาตรการเยียวยา คลื่น 1800/900 เมกะเฮิรตซ์ กว่า 1 หมื่นล้าน พร้อม นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

กสทช.เรียกเก็บรายได้ ช่วงมาตรการเยียวยา คลื่น 1800/900 เมกะเฮิรตซ์ กว่า 1 หมื่นล้าน พร้อม นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วงเงินรวมในการเรียกเก็บรายได้จากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยา ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์  และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ของทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ บริษัท ดิจิตอล โฟน หรือดีพีซี และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ที่จะนำส่งเป็น รายได้แผ่นดิน รวมเป็นเงินประมาณ 10,918 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นรายได้จากการเยียวยาบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็นเงินรายได้ที่เรียกเก็บจากบริษัท ทรูมูฟ 3,380 ล้านบาท บริษัท ดิจิตอล โฟน 869 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส 6,669 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เข้าสู่มาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 มี 4 บริษัทเข้าสู่มาตรการเยียวยา ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ บริษัท ดิจิตอล โฟน บริษัท เอไอเอส และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งกรณี 3 บริษัท ทรูมูฟ ดีพีซี และเอไอเอส กสทช. ได้พิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกรณีดีแทคที่อยู่ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2561 ที่ประชุม กสทช.มีมติกำหนด วันสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของดีแทค ในวันที่ 15 ธ.ค. 2561

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะ เฮิรตซ์ จะสิ้นสุดการให้บริการในวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางจากนั้น สำนักงาน กสทช.จะเร่งตรวจสอบเงินรายได้ดังกล่าวเพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้เร็วที่สุด

"การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของดีแทค บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยครั้งสุดท้ายแล้ว" นายฐากร กล่าว