posttoday

วิดีโอออนดีมานด์เอเชียพุ่ง แนะพัฒนาคอนเทนต์ท้องถิ่น

31 ตุลาคม 2561

วิดีโอออนคอมมานด์ (VOD) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

โดย...ปากกาด้ามเดียว

การผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเติบโตขึ้นทั่วโลก นำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละส่วนของห่วงโซ่คุณค่า เช่น มาเลเซียและไทยที่มีสตูดิโอตลอดจนเครื่องมือระดับโลกและให้สิทธิพิเศษที่ดีในการดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนต์จากต่างชาติ ขณะที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพและแอนิเมชั่น

วิดีโอออนคอมมานด์ (VOD) หรือระบบเรียกดูภาพยนตร์ตามต้องการ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดย แอลฟาบีตา (AlphaBeta) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐศาสตร์ ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาหัวข้อ เอเชีย ออน ดีมานด์ :การเติบโตของการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นโดยผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ พบว่า บริการวิดีโอออนดีมานด์ จะลงทุนในเอเชียสูงถึง 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าจากปี 2560

สำหรับงบประมาณการลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยผู้ให้บริการระดับโลกเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของมูลค่าการลงทุนโดยผู้ให้บริการ VOD เมื่อพิจารณาการใช้จ่ายทางตรงภายในอุตสาหกรรมสำหรับกิจกรรมการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ การคมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด และที่พัก เป็นต้น ซึ่งจะผลักดันให้เกิด การใช้จ่ายทางอ้อม เช่น การซื้อเลนส์กล้องถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง การคมนาคมขนส่ง ค่าเชื้อเพลิง และอื่นๆ

นอกจากนี้ งบประมาณการลงทุนดังกล่าวยังอาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นกว่า 7.36 แสนตำแหน่ง ภายในปี 2565 ทั้งยังเอื้อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ดนตรี และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น

วิดีโอออนดีมานด์เอเชียพุ่ง แนะพัฒนาคอนเทนต์ท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวยังคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่จ่ายเงินเป็นสมาชิก VOD ในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 5 ปี และผู้ชมในเอเชียมีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
ผู้ให้บริการ VOD จึงจำเป็นต้องจัดหาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น จนผลักดันการลงทุนด้านการพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ท้องถิ่นเพื่อดึงดูดสมาชิกรายใหม่และรักษาฐานจำนวนสมาชิกเดิม

คอนสแตนติน แมตตีส์ ผู้จัดการด้านเอนเกจเมนต์ ของแอลฟาบีตา กล่าวว่า เนื่องจากบริการ VOD เพิ่งเริ่มมีมาเมื่อไม่นาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบริการ VOD ในเอเชีย โดยเฉพาะที่มีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงจึงยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัด การศึกษานี้ต้องการปิดช่องว่างทางข้อมูลดังกล่าว และระบุถึงแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด ควบคู่กับข้อปฏิบัติเชิงนโยบายหลักๆ เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียสามารถสร้างประโยชน์จากโอกาสนี้

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าผู้ชมในเอเชียมีความต้องการรับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก และใช้เวลารับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นเท่าๆ กับการรับชมคอนเทนต์จากต่างประเทศ ทั้งนี้คาดว่าผู้ชมที่จ่ายเงินค่าสมาชิกในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการ VOD จึงต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่นคุณภาพสูงเพื่อดึงดูดสมาชิกใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม

เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างล้นหลาม ผู้ให้บริการ VOD จึงต้องเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

ขณะที่มากกว่า 80% ของผู้บริหารบริการ VOD ระบุว่าบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร กฎระเบียบข้อบังคับอันเอื้อต่อการทำธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพสูง คือปัจจัยสำคัญในการผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนต์

จากแนวโน้มการลงทุนดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน ที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากผู้ผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นั่นหมายความว่า สภาพแวดล้อมต้องเอื้อต่อการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและเห็นผลเป็นรูปธรรม