posttoday

ครม.อนุมัติ"ขสมก."กู้เงิน9,000ล้านเติมสภาพคล่อง

28 ตุลาคม 2561

ไฟเขียว ขสมก.กู้เสริมสภาพคล่องปี 2562 อีก 9,000 ล้าน พร้อมจี้เร่งฟื้นฟูกิจการเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่าย

ไฟเขียว ขสมก.กู้เสริมสภาพคล่องปี 2562 อีก 9,000 ล้าน พร้อมจี้เร่งฟื้นฟูกิจการเพิ่มรายได้ลดค่าใช้จ่าย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ปีงบประมาณ 2562 รวมจำนวน 9,217 ล้านบาท โดยจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 ที่ ครม.อนุมัติให้กู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินต้น 2,962 ล้านบาท และเพื่อเสริมสภาพคล่อง 2,013 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลที่เสนอ ครม. เนื่องจาก ขสมก.มีปัญหาขาดทุนสะสมเป็นระยะเวลานานทำให้มีหนี้สินคงค้างจำนวนมาก ประกอบกับขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้ ทำให้มีการนำเงินรายได้จากการเก็บค่าโดยสารและรายได้อื่นๆ มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ที่ได้ครบกำหนดไปก่อนหน้านี้ จึงต้องกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และค่าเสริมสภาพคล่อง ที่ครบกำหนดชำระในงวดแรก 2,851 ล้านบาท ซึ่งหาก ขสมก.ไม่สามารถกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ทันตามกำหนด จะทำให้ประสบปัญหาในการชำระเงินเดือนพนักงานและบริหารจัดการเดินรถได้เพียงพอ มีผลให้ต้องเสียค่าปรับผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องที่เหลือ 6,365 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินที่บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2562 แล้ว 2,724 ล้านบาท และเป็นวงเงินที่ยังไม่บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2562 อีก 3,641 ล้านบาท ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะจะได้นำวงเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงในแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2562 ต่อไป

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 ขสมก.มีหนี้ค้างชำระอยู่ทั้งสิ้น 1.07 แสนล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย 7.38 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย 2.59 หมื่นล้านบาท หนี้ค่าเชื้อเพลิง 152 ล้านบาท หนี้ค่าเหมาซ่อม 242 ล้านบาท หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงาน 4,513 ล้านบาท และหนี้สินอื่นๆ 3,221 ล้านบาท

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ยังให้ ขสมก.เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะแนวทางเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการแก้ไขหนี้สินอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้คำนึงถึงภาระของรัฐบาล เพื่อให้ทราบถึงภาระงบประมาณที่รัฐต้องสนับสนุน