posttoday

"สามารถ"ชี้ขยายเทอร์มินัล1สุวรรณภูมิคุ้มค่ากว่าการสร้างเทอร์มินัล2

26 ตุลาคม 2561

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ชี้3ข้อได้เปรียบในการขยายอาคารผู้โดยสาร1 สุวรรณภูมิ แทนการเดินหน้าก่อสร้างอาคารหลังที่2

"สามารถ ราชพลสิทธิ์" ชี้3ข้อได้เปรียบในการขยายอาคารผู้โดยสาร1 สุวรรณภูมิ แทนการเดินหน้าก่อสร้างอาคารหลังที่2

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Samart Ratchapolsitte แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ปมเทอร์มินัล 2 “ถ้าคนหน้างานรู้ดีที่สุด แล้วจะมี รมต.ไว้ทำไม?”

หลังจากผมได้ไปร่วมดีเบตบนเวทีสาธารณะ “กะเทาะเปลือกสุวรรณภูมิ” ที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ก็คิดว่าจะหยุดเขียนบทความเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทในสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้แทนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ไม่สามารถชี้แจงคำถามที่ผมและผู้ร่วมดีเบตถามให้เป็นที่กระจ่างชัดได้ ทำให้ผู้แทนองค์กรต่างๆ ถึง 12 องค์กร ในฐานะกรรมการกลางได้ลงมติคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 12-0 นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่มีผู้แทนจากหลายองค์กรมาร่วมฟังการดีเบตและมีมติเป็นเอกฉันท์ เหตุการณ์เช่นนี้ยากที่จะเกิดขึ้นถ้าผู้แทนเหล่านั้นไม่มีความห่วงใยในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

อันที่จริง มีผู้แทนมาทั้งหมด 15 องค์กร แต่มีผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียง 12 องค์กร ไม่ใช้สิทธิ์ 3 องค์กร ประกอบด้วยหน่วยงานราชการ 2 องค์กร ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะคัดค้าน และอีกหนึ่งองค์กรคือสภาวิศวกรซึ่งได้ทำหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังมีความพยายามจะเดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทต่อไป โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากองค์กรต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับฟังการให้สัมภาษณ์ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้ผมจำเป็นต้องเขียนบทความเกี่ยวกับการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 อีกครั้ง นับเป็นบทความที่ 6 บทสัมภาษณ์ รมช.ไพรินทร์ฯ มีดังนี้

“การออกแบบเทอร์มินัล 2 ก็ทำมาสองครั้งแล้ว ใช้เวลามาจนถึงตอนนี้ ผมเข้าใจว่าเกือบสองปีนะครับ ก็ยังเป็นห่วงอยู่ว่า ทำไมมาค้านเอาเมื่อปีที่ 2 หลังจากทราบชื่อว่า ใครได้รับการคัดเลือกแล้ว เรื่องนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการของทางการท่าอากาศยานพิจารณานะครับว่า แล้วแนวทางต่อไปที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรจะเป็นอย่างไร”

นักข่าวถามต่อว่า “แล้วได้ฟังเหตุผลที่เขาค้านมั้ยครับ คิดว่ามีน้ำหนักอย่างไร” รมช.ไพรินทร์ฯ ตอบว่า “ได้ฟังครับ ก็ได้พูดถึงแผนแม่บทซึ่งทำเมื่อประมาณสัก 30 ปีเศษที่แล้ว ซึ่งต้องเข้าใจว่าปัจจุบันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะ สมัยนั้นไม่มีเครื่องใหญ่ๆ อย่าง 380 นะครับ ไม่มี Low Cost Airline แล้วสมัยนั้นก็ไม่ได้คิดที่จะเปิดดอนเมืองออกมาอีกครั้งหนึ่งนะครับ เรื่องนี้จริงๆ ผมคิดว่า คนที่เขาอยู่หน้างานก็จะรู้ดีที่สุดนะครับ”

ผู้ที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องจะรู้ได้ทันทีว่า รมช.ไพรินทร์ฯ ได้รับข้อมูลพื้นฐานไม่ถูกต้อง ผมในฐานะวิศวกรที่ร่วมวางแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิขอแย้งคำให้สัมภาษณ์ข้างต้นดังนี้

1. รมช.ไพรินทร์ฯ มีความคิดว่าคนที่อยู่หน้างานรู้ดีที่สุด แต่ผมคิดว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีจะต้องรู้ไม่น้อยกว่าคนที่อยู่หน้างาน และจะต้องเข้าใจงานที่ตนกำกับดูแลอย่างถ่องแท้ มิฉะนั้นจะถูกหลอกได้ ถ้ารัฐมนตรีเชื่อถือคนที่อยู่หน้างานแบบเต็มร้อย แล้วจะมีรัฐมนตรีไว้ทำไม ไม่จำเป็นจะต้องมีรัฐมนตรีให้เปลืองเงินเดือน ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการได้โดยข้าราชการประจำหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ

2. รมช.ไพรินทร์ฯ ไม่ควรตั้งข้อสงสัยผู้คัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจาก 12 องค์กร ว่าเป็นเพราะได้ทราบชื่อผู้ชนะการประกวดแบบแล้วจึงคัดค้าน ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย ผมไม่สนใจว่าใครจะชนะหรือแพ้ เพราะเป็นเรื่องปลายเหตุ ผมมาให้ความสนใจเรื่องนี้เมื่อได้ตระหนักว่าเป็นการสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย

3. แผนแม่บทฉบับแรกถูกจัดทำในปี พ.ศ.2536 หรือเป็นเวลา 25 ปีแล้ว ซึ่งผมได้ร่วมจัดทำด้วยในฐานะวิศวกรของบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ยังคงมีความทันสมัยเพราะมีการวางแผนกันมาอย่างรอบคอบ หาก ทอท.ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 บนตำแหน่งตามแผนแม่บทซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งถนนบางนา-ตราด จะทำให้เกิดความสมดุลในการใช้สนามบินทุกทิศทาง กล่าวคือด้านทิศเหนือจะสมดุลกับด้านทิศใต้ และด้านทิศตะวันออกจะสมดุลกับด้านทิศตะวันตก แต่ถ้า ทอท.ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ซึ่งผิดแผนแม่บท นอกจากจะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการใช้สนามบินแล้ว ยังจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกอีกด้วย เพราะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับหรือเอพีเอ็มถึง 2 สาย ทั้งสายลอยฟ้าและสายใต้ดิน และที่สำคัญ จะไม่สามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีตามที่ ทอท.คุยไว้อย่างแน่นอน

4. แม้ในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องบินขนาดใหญ่ดังเช่น A380 ก็ตาม แต่แผนแม่บทได้เตรียมพื้นที่ที่สำหรับสร้างหลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ไว้แล้ว โดย ทอท.สามารถเลือกสร้างหลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้รอบอาคารเทียบเครื่องบินรอง (Satellite Terminal) ด้วยเหตุนี้ แผนแม่บทดังกล่าวจึงยังคงใช้งานได้อย่างดี ไม่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา

5. สมัยนั้นมีแนวคิดที่ใช้สนามบินดอนเมืองควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้ว กล่าวได้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นใช้นโยบาย 2 สนามบิน (Dual Airports) ไม่ใช่ 1 สนามบิน (Single Airport) ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลในปัจจุบันที่ใช้นโยบาย 2 สนามบิน และกำลังจะเปลี่ยนเป็น 3 สนามบิน (Triple Airports)โดยมีสนามบินอู่ตะเภามาร่วมด้วย และทั้งสามสนามบินจะถูกเชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูง จึงไม่มีความจำเป็นที่ ทอท.จะต้องก่อสร้างเทอร์มินัลถึง 3 เทอร์มินัล แค่ 2 เทอร์มินัล ก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากผู้โดยสารจะกระจัดกระจาย ไม่กระจุกอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น

6. แม้ในปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำก็ตาม แต่สายการบินเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้บริการที่สนามบินดอนเมือง จึงไม่มีความจำเป็นที่ ทอท.จะต้องก่อสร้างเทอร์มินัลเพิ่มขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิจาก 2 เทอร์มินัล ตามแผนแม่บท เป็น 3 เทอร์มินัล ตามแนวคิดของ ทอท.

น่าเสียดายที่ รมช.ไพรินทร์ฯ ไม่ได้ไปร่วมฟังการดีเบต ถ้าได้ไปคงจะรู้ว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอย่างไร ผมขอแนะนำให้ รมช.ไพรินทร์ฯ หาคลิปการดีเบตมาฟังอย่างตั้งใจ อย่ารับฟังรายงานจาก ทอท.เพียงอย่างเดียว แล้วลองพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าทำไม ทอท.จึงไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทั้งทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกแทนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท ทั้งๆ ที่การขยายเทอร์มินัล 1 มีข้อได้เปรียบดังนี้

1. ใช้เงินน้อยกว่าประมาณ 32,000 ล้านบาท กล่าวคือการขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะใช้เงินประมาณ 42,000 ล้านบาท

2. ใช้เวลาน้อยกว่า เพราะออกแบบเสร็จแล้วพร้อมที่จะก่อสร้าง ผ่านการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว และที่สำคัญ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อนุมัติแล้ว ในขณะที่เทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทยังไม่ได้ออกแบบ ยังไม่ผ่านอีไอเอ และครม.ยังไม่ได้อนุมัติ กล่าวโดยสรุป การขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งเท่านั้น แต่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

3. การขยายเทอร์มินัล 1 จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีแน่นอน แต่การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท โดยมีหลุมจอดประชิดอาคารเพียง 14 หลุม จะไม่สามารถทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความจุเพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีได้อย่างแน่นอน ผมแนะนำให้ รมช.ไพรินทร์ฯ ถามหารายการคำนวณจาก ทอท.ที่แสดงให้เห็นว่าหลุมจอดประชิดอาคาร 14 หลุม จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี ได้จริงหรือ แล้วเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้

ผมอยากให้ รมช.ไพรินทร์ฯ ได้ตระหนักว่า ในกรณีที่ ทอท.ต้องการเดินหน้าก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท จะก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย กล่าวคือด้านหน้าเทอร์มินัล 2 รถจะติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากมีพื้นที่เหลือหน้าเทอร์มินัล 2 น้อย ยากที่จะแก้ปัญหาจราจร ด้านหลังจะมีเครื่องบินติด เพราะมีพื้นที่เหลือน้อยเช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในซอยเล็กๆ ซึ่งจะทำให้เกิด “วิกฤตจราจรอย่างหนัก” ที่สำคัญ ผู้โดยสารจะไม่ได้รับความสะดวก เพราะต้องใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับหรือเอพีเอ็มถึง 2 สาย ทั้งสายลอยฟ้าและสายใต้ดิน หรืออาจจะต้องใช้ถึง 3 สาย ประกอบด้วยสายลอยฟ้า 2 สาย และสายใต้ดิน 1 สาย

ผมอยากให้ รมช.ไพรินทร์ฯ ทำใจให้เปิดกว้าง แล้วพิจารณาข้อมูลดังกล่าวข้างต้นด้วยใจเป็นธรรม แล้วลองหาหนังสือคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทของกลุ่มบริษัทอีพีเอ็มซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ ทอท. ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ถึง ทอท. และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดย ทอท.ทำการศึกษาเองซึ่งแล้วเสร็จภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น หลังจากเลิกจ้างกลุ่มบริษัทอีพีเอ็มมาอ่านดูก็จะรู้ความจริงว่าทำไมองค์กรต่างๆ และผู้รู้หลายคน รวมทั้งที่ปรึกษาของ ทอท.จึงคัดค้านการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท และทำไม ทอท.จึงต้องการผลักดันที่จะก่อสร้างให้ได้แบบ “หัวเดียวกระเทียมลีบ” ไม่สนใจใยดีต่อคำคัดค้านจากทุกสารทิศ

มีบางคนชอบอ้างว่าจะต้องเร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทเพราะ ทอท.ล่าช้ามานานแล้ว จะทำให้เตรียมการไม่ทันที่จะรองรับผู้โดยสารซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี คำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ในขณะที่การขยายเทอร์มินัล 1 จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่งเท่านั้น

โดยสรุป การก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทจะมีประโยชน์เพียงแค่ช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารที่เทอร์มินัล 1 เท่านั้น แต่ไม่ช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีหลุมจอดเท่าเดิม อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย แล้วมันคุ้มกันหรือที่จะต้องใช้เงินถึง 42,000 ล้านบาท

เฮ้อ! บ้านนี้ เมืองนี้ ช่างวังเวงจริงหนอ